โรคเกลื้อน (Tinea vesicolor) : ด่างขาว บนใบหน้า หรือ ตามลำตัว จากเชื้อรา การป้องกันและรักษา
เกลื้อน( Piryriasis vesicolor or Tinea vesicolor) เป็นภาวะการติดเชื้อราที่ชั้นนอกสุดของผิวหนัง คือ Stratum corneum โดยที่ผู้ป่วยไม่ค่อยมีอาการและมักเป็นเรื้อรัง โดยเชื้อราที่พบ คือ Malassezia furfur ( Pityrosporum ovale)
ปกติเชื้อราประเภทนี้ พบได้ทั่วไปตามรูขุมขนของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก บริเวณ หน้าอก หลัง ไหล่ ต้นคอ ใบหน้า บางครั้งอาจพบที่รักแร้ หรือ โคนขาได้
ปัจจัยที่ชักนำให้เกิดโรคเกลื้อน ซึ่งจะทำให้เชื้อรากลุ่มนี้เจริญเติบโตจากเชื้อยีสต์ เป็นสายหรือเป็นแท่งที่เรียกว่า hyphae ซึ่งทำให้เกิดโรคเกลื้อน ได้แก่
1. ภาวะผิวมัน
2. ภาวะเหงื่อออกมาก
3. ใส่เสื้อผ้าอับชื้นหรืออับเหงื่อเป็นเวลานานๆ
4. ภาวะอากาศมีความชื้นสูง เช่น ในหน้าร้อน หรือหน้าฝน
5. การรับประทานยาหรือทายากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง
6. ภาวะทุพโภชนาการ ขาดอาหาร
พบบ่อยแค่ไหน สังเกตอย่างไร
โรคเกลื้อน พบได้บ่อยในวัยหนุ่มสาว ทั้งเพศชายและหญิง แต่ก็อาจพบในทารกจนถึงวัยสูงอายุได้ โดยอาการทางคลินิก จะมีลักษณะเป็นดวงเล็กๆ สีน้ำตาล สีขาว หรือ แดง มีขอบเขตชัดเจน ผิวมีขุยละเอียด ต่อมาอาจจะเป็นปื้นขนาดใหญ่ มีรูปร่างเป็นวงกลมๆ หลายวง หรือรูปร่างไม่แน่นอน อาจคัน หรือไม่คันก็ได้
รอยด่างขาวที่หน้า ส่วนใหญ่เป็นเกลื้อนหรือไม่
เกลื้อน มักไม่ค่อยพบที่ใบหน้า เนื่องจากว่า คนส่วนใหญ่ล้างหน้าบ่อยๆ และซับให้แห้ง ถ้าพบรอยด่างที่ใบหน้า ให้นึกถึงอย่างอื่นก่อน เช่น โรครอยด่างจากแดด หรือเกลื้อนแดด หรือ เกลื้อนน้ำนม( P. alba) หรือ โรคด่างขาว( vitilligo) มากกว่าจะเป็นโรคเกลื้อน
วินิจฉัยโรคเกลื้อนอย่างไร
ถ้าจะยืนยันการเป็นเกลื้อนจริงหรือไม่ ควรขูดเอาขุยบริเวณรอยโรค ไปส่องกล้องจุลทรรศน์ ด้วยน้ำยา KOH จะพบลักษณะยีสต์เซลล์ รูปร่างกลมหรือรี หรือสายใยเป็นท่อนๆ ( fragmented hyphae) ของเชื้อราชัดเจน
รักษาอย่างไร
1. หลีกเลี่ยงภาวะหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเกลื้อนดังกล่าวข้างต้น เช่น ภาวะเหงื่อออก การอับชื้น
2. การใช้ครีมทาภายนอก ฆ่าเชื้อรา ได้แก่
2.1 กลุ่ม Imidazole derivatives เช่น Tonaf,Canesten cream,Cotrimazole ทาบริเวณที่เป็น ครีมจะใช้ได้ผลดีกรณีที่เป็นไม่มาก แต่ราคาค่อนข้างแพง
2.2 Selenium sulfide หรือ Selsun ใช้ฟอกตัว ถ้าเป็นมาก โดยทาทิ้งไว้ประมาณ 15-30 นาทีแล้วล้างออก โดยทาทั่วตัวประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ควรระวังอาจเกิดอาการระคายเคือง หรือแสบได้ ถ้าทิ้งไว้นานเกินไป และควรป้องกันการเกิดซ้ำ โดยทายาเดือนละ 1 ครั้ง
2.3 กลุ่มยาลอกขุย( Keratolytic agents) ได้แก่ Whitfield’s ointment,ขี้ผึ้งเบอร์ 28 โดยจะทำให้ผิวหนังลอกออก แล้วเชื้อราหลุดออกไป มีข้อดีคือ ราคาถูก แต่ก็ทำให้เกิดรอยคล้ำดำ จากการอักเสบได้ ( Post-inflammatory hyperpigmentation)
3. ยารับประทานฆ่าเชื้อรา มักใช้ใน กรณีที่เป็นมาก หรือ มีบริเวณกว้าง การทาครีมอาจจะไม่ทั่วถึง เช่น ภาวะโรคเกลื้อนทั่วไปที่หลัง และลำตัว
3.1 ยาฆ่าเชื้อรากลุ่ม Ketoconazole (Nizoral) 200 มก. วันละ 1 เม็ด เป็นเวลา 10-14 วัน และป้องกันการเกิดซ้ำ ด้วยการรับประทานยา เดือนละ 1 ครั้งในขนาด 400 มก. หรือ 200 มก.ติดต่อกัน 3 วันต่อเดือน
3.2 ยาฆ่าเชื้อรากลุ่ม Itraconazole (Spiral=100 Mg./แคบซูล) การรักษาแนะนำให้รับประทาน ขนาด 200 มก.ต่อวัน เป็นเวลานาน 5 วัน
3.3 ยาฆ่าเชื้อรากลุ่ม Griseofulvin (Fulvin) ,Terbinafine (Lamisil) ได้ผลไม่ค่อยดีนักในการรักษาโรคเกลื้อน