งานวิจัย : 6 สมุนไพรไทย(Thai Herbs) ที่ได้ผลในการรักษาโรคทางผิวหนัง

ผิวหนัง

18 กันยายน 2003


ปัจจุบันนี้ การแพทย์แผนไทย ได้มีบทบาทในการรักษาโรคมากขึ้น แม้แต่การรักษาทางด้านผิวหนัง ซึ่งตามภูมิปัญญาชาวบ้านแต่ดั้งเดิม มีสมุนไพรมากมาย และ หลากหลาย
แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะสมุนไพรแผนปัจจุบัน ที่ได้มีการพิสูจน์ทางคลินิกแล้วว่าได้ผลในการรักษาปัญหาทางผิวหนัง
1. กระเทียมในการรักษาเชื้อราที่เท้า : ได้มีรายงานการทดลองในปี 2539 พบว่า ได้ใช้สารสกัดจากกระเทียม ที่ประกอบด้วย 0.4% ajoene Gel ทารักษาเชื้อราที่เท้าในกลุ่มคนไข้ทดลอง 34 ราย พบว่าคนไข้ 27 ราย หายภายใน 1 สัปดาห์ (ร้อยละ 79) และอีก 7 ราย (ร้อยละ 21) หายภายใน 2 สัปดาห์
2. ผักบุ้งทะเลกับการรักษาอาการแพ้พิษแมงกระพรุน: ได้มีการทดลองสกัดครีมจากใบผักบุ้งทะเล 1% นำมารักษาอาการผื่นแพ้พุพองจากแมงกระพรุนไฟว่าในสารผักบุ้งทะเล มีฤทธิ์ยับยั้งการทำลายโปรตีนและเม็ดเลือกจากพิษแมงกระพรุน ทำให้แผลหายเร็วขึ้นภายใน 2 วัน หรือในรายที่เป็นพิษแผลเรื้อรัง แผลจะแห้งใน 2 สัปดาห์ และหายสนิทใน 1 เดือน

3. พญายอรักษาโรคเริมที่เป็นซ้ำในบริเวณอวัยวะเพศ: โดยการคัดเลือกผู้ป่วยที่มีตุ่มแผลจากเริมภายใน 48 ชั่วโมง จำนวน 163 ราย แล้วจัดแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
– กลุ่มที่ทายาสกัดจากใบพญายอ
– กลุ่มที่ทายาจากเมืองนอก คือ Acyclovir
– และกลุ่มที่ทายาหลอก โดยการให้ผู้ป่วยทุกกลุ่มทายาวันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 6 วัน
ผลการทดลองพบว่า ผู้ป่วยในกลุ่มที่ทายาสกัดจากใบพญายอ และกลุ่มที่ทายาจากเมืองนอก คือ Acyclovir ได้ผลพอๆ กัน โดยทำให้ตุ่มแผล ตก สะเก็ดภายใน 3 วันและแผลหายภายใน 7 วัน แตกต่างกับกลุ่มที่ทายาหลอก อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีการทดลองใช้ยาครีมที่มีสารสกัดจากพญายอในการรักษาผู้ป่วยงูสวัด ก็ได้ผลดีและแตกต่างจากการใช้ยาหลอกเช่นกัน
4. ว่านหางจระเข้กับการรักษาแผลไฟใหม้: มีการทดลองพบว่าน้ำเมือกของว่านหางจระเข้ จะมีสาร Glycoprotein fractions ซึ่งเมื่อทาหรือทำเป็นขี้ผึ้งทาภายนอกที่แผลพุพอง หรือแผลไหม้จากความร้อน รังสียูวีจากแสงแดด หรือรังสีจากกัมมันตรังสีอื่นๆ สารตัวนี้จะทำให้มีเกิดจากแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังชั้น Keratinocyte เร็วขึ้น ทำให้แผลสมานกันได้ดีและเร็วขึ้นด้วย

5. ตะไคร้หอมป้องกันยุง : ได้มีการทดลองนำครีมที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหย 14% ของครีมตะไคร้หอม ทาไล่ยุงในอาสาสมัคร 20 ราย พบว่า สามารถป้องกันและไล่ยุงได้ผลถึง 13 ราย ( ร้อยละ 65 ) โดยมีฤทธิ์ได้นานประมาณ 2 ชั่วโมง
6. น้อยหน่ารักษาเหาที่ศีรษะ: มีการทดลองใช้น้ำยาที่คั้นจากเมล็ดน้อยหน่าบดกับน้ำมะพร้าวในอัตราส่วน 1:2 สามารถฆ่าเหาได้ร้อยละ 90-98 ซึ่งพบว่าได้ผล กว่าน้ำยาฆ่าเหาแผนปัจจุบัน ( 25% Benzyl benzoate) ที่ได้ผลเพียงแค่ร้อยละ 60

อนึ่งยังมีสมุนไพรภูมิปัญญาชาวบ้านอีกหลายชนิดที่ยังอยู่ในระหว่างศึกษาและทดลอง เช่น การใช้ขมิ้นชันในการรักษาแผลแมลงกัดต่อย เปลือกมังคุด กับการรักษาแผลพุพอง เน่าเปื่อย ข่าและชุมเห็ด กับการรักษากลากเกลื้อน ซึ่งเราคงต้องติดตามกันต่อไป

ท้ายสุดนี้ ในความเห็นของผู้เขียน แม้ว่าสมุนไพรจะเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ซึ่งคนทั่วไปเข้าใจว่าไม่มีผลข้างเคียง หรือผลข้างเคียงน้อย แต่ก็มี รายงานการแพ้ให้เห็นบ่อยๆ ตั้งแต่ผื่นแพ้เล็กน้อย จนถึงผื่นแพ้รุนแรง โดยเฉพาะการนำสมุนไพรมาทำการรักษาปัญหาผิวพรรณบนใบหน้า ซึ่งยังไม่มีรายงานการแพทย์หรือรายงานทางคลินิกว่าได้ผลมากน้อยเพียงใด ดังนั้นท่านที่นำมารักษาผิวพรรณที่ใบหน้าด้วยตนเอง หรือจากสถานเสริมความงามต่างๆ ที่ไม่มีแพทย์ดูแล จึงต้องระวังและสังวรณ์ไว้ด้วย เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา ย่อมต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายที่มากกว่ามากนัก

Related