ผื่นแพ้เสื้อผ้า (Textile contact dermatitis) : เสื้อใหม่ ทำไม ใส่แล้วไม่สบายตัว สาเหตุและการแก้ไข
การแพ้เสื้อผ้า ไม่ว่าจากเสื้อผ้าชุดชั้นนอกหรือชุดชั้นในพบได้ไม่บ่อยนัก ตามปกติแล้ว เนื้อผ้าทั้งที่ผลิตจากธรรมชาติ หรือเส้นใยสังเคราะห์ จะไม่ก่อให้เกิดการแพ้ แต่การแพ้จะเกิดต่อเมื่อมีการเติมสารเคมีลงในเนื้อผ้าระหว่างกระบวนการตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าผู้ที่แพ้มักจะนึกไม่ถึง และคิดว่าผื่นที่เกิดอาจเกิดจากการแพ้เหงื่อ หรือเป็นเชื้อราก็ได้
อาการและอาการแสดง
- อาการคันจากการเสียดสีและสัมผัส ( Subjective irritation) ส่วนใหญ่จะเกิดการระคายเคืองมากกว่าการแพ้ เนื่องจากลักษณะของเนื้อผ้า เช่น ผ้าลูกไม้ หรือผ้าลินิน
- ผื่นลมพิษบริเวณที่สัมผัส ( contact urticaria) ลักษณะก็คล้ายลมพิษทั่วไป แต่จะเกิดบริเวณที่มีการกดทับ เช่น ที่สายรัดยกทรง การกดทับบริเวณขอบกางเกงที่บั้นท้าย
- ผื่นอักเสบแบบตุ่มน้ำพองใส แบบ Eczema คล้ายการเกิดผิวแพ้ในเด็ก มักเกิดจากการระคายเคือง ในบริเวณที่แนบชิดกับเนื้อผ้า เช่น แพ้สีย้อมผ้า หรือแพ้สารที่เคลือบมากับเนื้อผ้า
- ผื่นแบบจุดเลือดออก ใต้ผิวหนัง ( petichiae) เป็นจุดแดงๆ คล้ายในโรคไข้เลือดออก มักไม่คัน สาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากการแพ้ยางสังเคราะห์ในผ้า หรือยางยืดอีลาสติก
สาเหตุการเกิด แบ่งได้เป็น
- ตัวเนื้อผ้าเอง ใยเนื้อผ้าบางชนิดอาจทำให้เกิดการระคายเคือง เช่น ผ้าลินิน ผ้าฝ้าย ผ้าขนสัดว์ ผ้าลูกไม้ นอกจากนี้ผ้าบางชนิด อาจทำให้เกิดลมพิษได้ เช่น ผ้าไหม เป็นต้น
- สารที่ปะปนในกระบวนการผลิตผ้า เช่น สารฟอร์มาดีไฮด์ ที่ทำให้ผ้าเรียบและมัน ซึ่งพบว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพ้เสื้อผ้ามากที่สุด
- สีย้อมผ้า ชุดชั้นในที่มีสีสดๆ อาจทำให้เกิดการแพ้ได้
- สารที่ใช้ในการผลิตยางยืด บางครั้งอาจแพ้ยางที่อยู่ในขอบยางอีลาสติกได้
- สารที่ปะปนมากับการซักรีด จากการล้างออกไม่หมด เช่น ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม สารฟอกขาว สารเพิ่มฟอง น้ำหอม สี
- โลหะ เช่น ในพวก กระดุม ตะขอ
การที่จะพิสูจน์ว่า ลักษณะอาการผื่นที่พบ เกิดจากการแพ้เสื้อผ้า หรือชุดชั้นในหรือไม่ อาจทำการทดสอบได้ด้วยการนำสารที่สงสัยมาปิดไว้ที่หลังเป็นเวลา 48 ชั่วโมง แล้ววัดผล ซึ่งเรียกว่า การทำ Patch test ซึ่งสามารถทำได้ที่สถาบันโรคผิวหนัง หรือ โรงพยาบาลใหญ่ๆ ของรัฐ
การป้องกัน
- ควรซักชุดชั้นในทุกครั้งที่ซื้อมาใหม่ก่อนใส่ และหลีกเลี่ยงผงซักฟอกที่มี คลอรีนและผงฟอกขาว
- ถ้าพบว่าหลังใส่เสื้อผ้า หรือชุดชั้นใน แล้วมีอาการคัน หรือเกิดผื่น ควรหยุดใช้ทันที
- ใส่เสื้อผ้าหลวมๆ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดเหงื่อออก เพราะอาจทำให้สีย้อมผ้า หรือ ฟอร์มาดีไฮด์ ละลายออกมาทำให้แพ้ได้
- ถ้าแพ้ยางยืด อาจเลือกใช้ชุดชั้นในที่ทำด้วยผ้าธรรมดา หรือชุดชั้นในที่ทำจากไลครา( lycra) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดยืดหยุ่นได้ที่ไม่ใช่ยาง
- ถ้าแพ้โลหะ อาจใช้ตะขอพลาสติก หรืออาจใช้ยาทาเล็บที่ไม่มีสีเคลือบตัวโลหะไว้ ไม่ให้สัมผัสกับผิวหนังโดยตรง