ธนาคารอสุจิ : ธนาคารสำรองสเปริ์ม เพื่อการแพทย์ และความหวังของผู้มีบุตรยาก
ธนาคารอสุจิ ได้แก่ การนำอสุจิมาเก็บแช่แข็งเอาไว้ เพื่อนำกลับมาใช้ในภายหลัง ซึ่งการแช่แข็งน้ำอสุจิมีมานานร่วม 50 ปีแล้ว แต่ในปัจจุบันได้มีการรับบริจาคน้ำอสุจิเพื่อนำมาเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในการผสมเทียมในโอกาสต่อไป แต่ทั้งนี้ก็ต้องเช็คเลือดผู้บริจาคว่าปราศจากเชื้อเอดส์ หรือโรคที่ติดต่อได้ทางเพศสัมพันธุ์เสียก่อน
วัตถุประสงค์ของการแช่แข็งอสุจิไว้ในธนาคารอสุจิ
- สำหรับผู้ที่ต้องการเก็บน้ำอสุจิไว้ก่อนรับการผ่าตัด หรือรังสีรักษา หรือต้องได้รับยารักษามะเร็ง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดเป็นหมันตามมาได้
- สำหรับการรักษาภาวะมีบุตรยาก โดยฝ่ายสามีต้องเดินทางบ่อยๆ ทำให้ไม่อาจอยู่ร่วมกับภรรยาในช่วงตกไข่ได้ หรือในรายที่ในอัณฑะมีตัวอสุจิแต่ไม่ออกมาในน้ำอสุจิ
- แช่แข็งอสุจิจากผู้บริจาค เพื่อใช้ในการผสมเทียมให้คู่สมรสที่สามีเป็นหมัน
วิธีการแช่แข็งน้ำอสุจิ
- ให้ผู้ที่จะแช่แข็งอสุจิ เก็บน้ำอสุจิด้วยการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง แล้วนำมาใส่ในขวดปากกว้างที่ปราศจากเชื้อ
- นำน้ำอสุจิไปวิเคราะห์ (semen analysis) โดยควรมีตัวอสุจิไม่ต่ำกว่า 40 ล้านตัว/ซีซี และมีอัตราการเคลื่อนไหวมากกว่าร้อยละ 60 และต้องมีรูปร่างของอสุจิปกติมากกว่าร้อยละ 30 เนื่องจากในเวลาใช้จริง จะมีบางส่วนตายไปประมาณร้อยละ 30-40
- หลังจากนั้น อสุจิจะต้องใส่สารละลาย ( เช่น glycerol,sodium citrate,glucosr,fructose,ไข่แดง) ผสมกับน้ำอสุจิ แล้วนำใส่หลอดพลาสติกเล็กๆ แล้วนำไปแขวนไว้ที่ระดับ 15 ซม.เหนือไนโตรเจนเหลวซึ่งมีอุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถเก็บไว้เป็นเวลานานหลายปี
การผสมเทียมด้วยอสุจิบริจาค: กรณีที่นำอสุจิแช่แข็งในธนาคารอสุจินำไปใช้กับภริยาของตนเอง ไม่มีปัญหาใดๆ หรือข้อบ่งชี้ที่ต้องคำนึงถึงมากนัก แต่กรณีที่ต้องการผสมเทียมกับอสุจิผู้บริจาคต้องมีข้อบ่งชี้ดังนี้
- สามีเป็นหมัน คือ ไม่มีอสุจิออกมาในน้ำเชื้ออสุจิ หรือน้ำเชื้ออสุจิผิดปกติมาก
- สามีเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดถึงลูกได้ เช่น โรคเลือด Hemophilia
- สามีไม่สามารถหลั่งน้ำอสุจิได้
- หญิงโสดที่ต้องการมีบุตร (แต่ในเมืองไทยยังมีปัญหากันอยู่ในเรื่องผลกระทบต่อเด็กในอนาคต)
การประเมินคู่สมรสที่จะรับบริจาคอสุจิแช่แข็งของผู้บริจาค
- สามีภรรยา จะต้องพูดคุยกันและประเมินสภาพจิตใจในการยอมรับ
- ซักประวัติ ตรวจร่างกายของภรรยา พร้อมทั้งการตรวจภายใน ให้แน่ใจว่าไม่มีความผิดปกติใดๆ
- ตรวจเลือดเพื่อดูโรคติดเชื้อ เช่น ซิฟิลิส เอดส์ ไวรัสตับอักเสบบี
การประเมินผู้บริจาคอสุจิ ( ในโรงเรียนแพทย์มักจะขอจากนักศึกษาแพทย์ ซึ่งมักมีสติปัญญาดี ) ดังนี้
- ต้องมีสุขภาพแข็งแรง น้ำเชื้อมีคุณภาพดี
- อายุไม่ควรเกิน 40 ปี
- ไม่มีโรคทางพันธุกรรม หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เอดส์ หนองใน ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี
- มีลักษณะใกล้เคียงกับสามีผู้บริจาค เช่น รูปร่าง ส่วนสูง สีผิว สีผม เชื้อชาติ และกรุ๊บเลือด
วิธีการผสมเทียมด้วยอสุจิบริจาค
- คาดคะเนวันตกไข่ของฝ่ายภริยา โดยใกล้วันตกไข่ จะนัดมาตรวจวัดขนาดถุงไข่ด้วยอัตราซาวด์ หรือแนะนำให้ตรวจฮอรโมนเกี่ยวกับการตกไข่(LH) หรือวัดปรอทอุณหภูมิพื้นฐาน
- เมื่อถึงวันตกไข่ นำน้ำอสุจิที่บริจาค ออกมาทำให้เหลวในอุณหภูมิห้อง แล้วฉีดเข้าไปในบริเวณที่ปากมดลูกและช่องคลอดส่วนบน หรือฉีดเข้าโพรงมดลูกโดยตรง
ผลของการตั้งครรภ์ เกิดได้ในอัตรา ร้อยละ 10 ต่อการผสมเทียม 1 ครั้งและอัตราการตั้งครรภ์สะสมจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนครั้งที่ฉีด ซึ่งพบว่าความสำเร็จจะเกิดประมาณร้อยละ 60-80 ในการฉีดไป 12 รอบเดือน หรือ 1 ปี ซึ่งต่อมาได้มีการประเมินบุตรที่คลอดออกมา พบว่าการพัฒนาการทั้งร่างกายและจิตใจไม่แตกต่างจากการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติ และมีอัตราหย่าร้างน้อยกว่าการหย่าร้างโดยทั่วไป
ข้อควรคำนึงในการใช้อสุจิบริจาคในประเทศไทย
- ไม่สมควรให้มีการซื้อขายในเชิงพาณิชย์ ( ตามกฏเกณฑ์แพทยสภา)
- ไม่ควรให้รู้กันระหว่างผู้บริจาคและผู้รับบริจาค เพื่อป้องกันการทวงสิทธิภายหลัง
- ไม่สมควรให้เด็กที่เกิดมาทราบหรือรู้จักกับเจ้าของอสุจิบริจาค
- คู่สมรสไม่ควรบอกใครว่าตั้งครรภ์จากอสุจิบริจาค
- ผู้บริจาคอสุจิ ไม่ควรใช้การบริจาคซ้ำเกิน 25 ครั้ง เพื่อป้องกันการสมรสกันในสายเลือดใกล้ชิดกันในอนาคต
ดังนั้น ธนาคารอสุจิส่วนใหญ่ในประเทศไทย มักจะเป็นการแช่แข็งอสุจิจากผู้บริจาค เพื่อนำไปใช้บริการคู่สมรสที่มีบุตรยาก ซึ่งฝ่ายสามีเป็นหมัน และเมื่อเป็นการบริจาคเซลล์สืบพันธ์ จึงต้องคำนึงถึงจริยธรรมหลายประการดังกล่าวข้างต้น