โรคหิด (Scabies) ติดแล้วจะคันมาก โดยเฉพาะตอนกลางคืน ป้องกัน รักษาอย่างไร

ผิวหนัง

6 กรกฎาคม 2005


โรคหิด(Scabies) เป็นโรคติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อหิด หรือจากเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ซึ่งอาจจะมีหิดตัวเมียเกาะอยู่ ซึ่งอยู่ได้นานถึง 24-36 ชั่วโมง โดยหิดจะเคลื่อนเข้าหาอุณหภูมิที่อุ่นกว่าและสภาพแวดล้อม เมื่อได้กลิ่นคน
ตัวหิด(Sarcoptes scabiei var.homonis) คือแมง 8 ขา ในกลุ่มเดียวกับ ไร(mites) เล็นไร(Demodex) และเห็บ(Ticks) ปกติจะอยู่ในโพรงเล็กๆของหนังกำพร้าใต้ต่อชั้นขี้ไคล ตัวอ่อนโตเต็มที่ใช้เวลา 14-17 วันเมื่อผสมพันธุ์แล้ว หิดตัวผู้จะตาย
พบได้บ่อยแค่ไหน พบชายมากกว่าหญิง 2:1.7 และมีการระบาดทุก 10-15 ปี พบได้บ่อยในชุมชนแออัด หรือที่มีสุขอนามัยไม่ดี เช่น สลัม คุก ผู้ป่วยจะมีอาการหลังจากติดหิดแล้ว ประมาณ 1 เดือนในการติดครั้งแรก และจะมีอาการทันทีเมื่อมีการติดหิดครั้งต่อๆมา
อาการที่พบ :  ผื่นของหิดจะคันมาก เกิดหลังติดเชื้อประมาณ 2 สัปดาห์โดยเฉพาะเวลากลางคืน อาการคันและผื่นเกิดจากปฏิกิริยาไวเกินของร่างกายต่อตัวหิดหรือสิ่งขับถ่ายของหิด
      ผื่นมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสหรือตุ่มแดงคัน ผื่นจะกระจายไปทั่วตัว บริเวณที่พบผื่นได้บ่อยคือ ง่ามมือ ง่ามเท้า ข้อพับแขน รักแร้ เต้านม อวัยวะเพศ รอบสะดือ และก้น ในเด็กอาจพบผื่นบริเวณหน้าและศีรษะ
ในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีหรือภูมิคุ้มกันบกพร่องและผู้ป่วยสูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จะทำให้การขยายพันธุ์ของหิดเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ทำให้เกิดผื่นมีสะเก็ดแห้งขุยหนา ภายในสะเก็ดแห้งมีตัวหิดอยู่เป็นจำนวนมหาศาล ทำให้แพร่เชื้อได้ง่าย

ทราบได้อย่างไรว่าเป็นหิด ?
          1. การซักประวัติ ผื่นที่มีอาการคันมาก และพบสมาชิกครอบครัวหรือคนใกล้ชิดที่มีอาการพร้อมๆกัน
            2. การตรวจร่างกาย พบผื่นที่มีลักษณะจำเพาะเห็นเป็นเส้นเล็กๆ คดเคี้ยวที่ง่ามนิ้วเรียกว่า อุโมงค์หิด 
            3. การตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ โดยขูดบริเวณผื่นคันหรืออุโมงค์หิด จะพบตัวหิด,ไข่ หรือสิ่งขับถ่ายของหิดอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายๆอย่างร่วมกัน           
การรักษาหิด
ยาทา
การทายาควรสวมถุงมือยางเมื่อทายาให้ผู้ป่วย ทายาหลังอาบน้ำตอนเย็น ทายา”ทั้งตัว”ตั้งแต่คอลงไป ไม่ควรเลือกทาเฉพาะส่วนที่มีผื่นเท่านั้น เด็กเล็กให้ทาทั้งตัวตั้งแต่ศีรษะ หน้า คอ ใบหู โดยเฉพาะหลังหู ร่องก้น ง่ามนิ้วและใต้เล็บ  ทายาทิ้งไว้ 8-14 ชั่วโมงแล้วล้างออกในตอนเช้า ทาซ้ำตามรายละเอียดของยาแต่ละตัว
            1. Permethrin cream  ใช้ได้ดีกับผู้ใหญ่และเด็กมากกว่า 2 เดือน ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 เดือน ทาทั่วตัว 1 ครั้งและทาซ้ำอีกครั้งในอีก 1 สัปดาห์
            2. 5-15% sulfur เป็นยากำมะถัน ใช้ได้ดีและค่อนข้างปลอดภัย ใช้ได้ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 เดือน หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ควรทายาทั่วตัว 3 วันติดต่อกัน ข้อเสียคือ ยามีกลิ่นเหม็นและเหนอะหนะ
            3. 10-25% Benzyl benzoate ใช้ได้ในเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ควรใช้ในเด็กเล็ก ทาทั่วตัว 1 ครั้งและทาซ้ำอีกครั้งในอีก 1 สัปดาห์ ยาอาจมีแสบระคายเคืองได้
ยารับประทาน
        
  1. Ivermectin รับประทาน 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1กิโลกรัม มีประสิทธิภาพรักษาหิดได้ดี มีผลข้างเคียงน้อย
         
2. การรับประทานยาแก้คัน จะช่วยบรรเทาอาการคันได้
         
3. ฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ถ้าหลังได้รับการรักษาหิดแล้ว ยังพบตุ่มคัน นูนไม่หาย
          4. ยาปฏิชีวะนะ
กรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย จากการเกาจนเป็นแผล

การป้องกันการแพร่กระจายของหิด
            – ควรรักษาสมาชิกทุกคนในครอบครัวพร้อมๆกัน โดยเฉพาะที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย ถึงแม้ไม่มีอาการ ก็จำเป็นต้องรักษา เพราะอาจจะอยู่ในระยะฟักตัว
            – ทำความสะอาดเครื่องใช้ ส่วนตัวทุกอย่าง ด้วยการซักน้ำร้อนอย่างน้อย 5 นาที สำหรับเครื่องนุ่มหุ่มที่ซักไม่ได้ เช่น หมอนและพรม ควรอบแห้ง 50oC 20 นาที หรือเก็บไว้ในถุงพลาสติกปิดปากแน่น อย่างน้อย 7 วัน
            – ทำความสะอาดพื้น ดูดฝุ่นพรมและเฟอร์นิเจอร์
            – แยกของใช้ส่วนตัว หวี ผ้าเช็ดตัว เครื่องนุ่งห่ม และที่นอน ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น
            – ตัดเล็บสั้นและตะไบเล็บให้ไม่คม ไม่แคะแกะเกาผื่นคัน ให้เชื้อหิดกระจาย

Related