สะเก็ดเงิน ( Psoriasis) : โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง รักษายังไง หายขาดได้มั้ย !

ผิวหนัง

30 มกราคม 2004


โรคสะเก็ดเงิน ( Psoriasis) คืออะไร

เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดทีแท้จริง แต่เชื่อว่าปัจจัยทางพันธุ์กรรม ร่วมกับสิ่งแวดล้อมบางอย่างกระตุ้นให้เกิดอาการ ที่พบเป็นสาเหตุได้บ่อยๆ ได้แก่ การติดเชื้อ การได้รับอันตรายที่ผิวหนัง การแกะเกา ยาบางชนิด และความเครียดต่างๆ เป็นต้น
พบบ่อยมั้ย พบได้ประมาณ ร้อยละ 2-4 ของประชากรโลก พบในเพศชายและเพศหญิงในอัตราที่เท่าๆกัน เป็นโรคที่เกิดจากการหนาตัวของเซลล์ผิวหนังกำพร้าชั้น Epidermis และมีการแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ ทำให้ผิวหนังหนาเป็นปื้น แต่ขาดแรงยึดเหนี่ยวระหว่างเซลล์ ทำให้หลุดลอกเป็นแผ่นๆ ได้ง่าย
ลักษณะอาการ มักพบเป็นผื่นแดงนูน หรือปื้นสีแดง ขอบเขตชัด และมีขุยสีขาวคล้ายเงิน ติดค่อนข้างแน่น และถ้าแกะสะเก็ดเงิน จะแกะได้ยากและอาจมีจุดเลือดออกเล็กๆ ได้
บริเวณที่มักมีอาการ พบได้หลายที่ในร่างกาย เช่น ผิวหนัง บริเวณข้อศอก หัวเข่า ศีรษะ เล็บ และข้อ บางครั้งอาจพบในบริเวณที่มีรอยขีดข่วน ในรายที่เป็นมาก อาจพบทั้งตัวได้ และผื่นเหล่านี้เป็นเรื้อรัง และไม่ติดต่อ ผื่นจากขึ้นๆ ยุบๆ

การรักษาโรคสะเก็ดเงิน

เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ การรักษาจึงมุ่งไปที่การทำให้ผื่นของโรคดีขึ้นหรือสงบลง พร้อมกับป้องกันมิให้โรคกำเริบขึ้น โดยหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่างๆ เช่น การติดเชื้อแทรกซ้อน การได้รับอันตรายทางผิวหนัง ยาบางชนิด ความเครียด ดังนี้
1. ยาทา: มักใช้ในกรณีที่ผื่นไม่มากนัก น้อยกว่า 20% ของผิวหนัง หรือผื่นไม่กระจัดกระจายมากนัก ได้แก่
1.1 ยาทากลุ่มสเตียรอยด์: เป็นยาที่แพทย์ทั่วไปนิยมใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินมากที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการรรักษาสูง ได้ผลเร็ว สะดวกในการใช้และราคาไม่แพง และไม่ระคายเคือง แต่ก็ควรใช้ในระยะสั้นๆ หรือในช่วงที่ผิวหนังกำเริบ เพราะหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจจะเกิดผลข้างเคียงได้หลายประการ เช่น ผิวหนังฝ่อ หลอดเลือดขยายตัว ผิวแตก ผิวด่างขาว และการดื้อยา
1.2 น้ำมันดิน (Tars): มักให้ผลการรักษาใกล้เคียงกับยาทาสเตียรอยด์ แต่มีข้อเสียที่มีกลิ่นเหม็นและติดเสื้อผ้าดูสกปรก นอกจากนี้ยังระคายเคือง ทำให้ไม่อาจทาบริเวณใบหน้า ข้อพับ และอวัยวะเพศได้ จึงมักจะผสมในแชมพูสำหรับรักษาที่หนังศีรษะมากกว่า
1.3 ยากลุ่ม Anthralin: เป็นยาที่นิยมใช้ในแถบยุโรปและอเมริกา เพราะได้ผลดี และทำให้โรคกลับมาเป็นซ้ำได้น้อย แต่ยาก็มีข้อจำกัดในการระคายเคือง และทำให้ผิวหนังคล้ำขึ้นได้ จึงไม่อาจทาบริเวณใบหน้า ข้อพับ และอวัยวะเพศได้
1.4 ยากลุ่มวิตามินD3 ( Calcipotriol หรือ ชื่อการค้าว่า Daivonex) เป็นยาตัวใหม่ล่าสุดที่เป็นที่นิยมทั้งในแถบยุโรปและอเมริกา และในประเทศไทยได้มีการเริ่มใช้ยาทากลุ่มนี้กันบ้าง เนื่องจากให้ผลการรักษาดี รวดเร็วพอๆ กับยาทากลุ่มสเตียรอยด์ ไม่มีสี หรือกลิ่นเหมือนน้ำมันดิน และแอนทราลิน แต่ก็เกิดการระคายเคืองได้เช่นกันแต่น้อยกว่า น้ำมันดินและแอนทราลิน จึงควรระวังเมื่อทาบริเวณใบหน้า ข้อพับและอวัยวะเพศ ในปัจจุบันแพทย์ผิวหนังหลายๆ ประเทศแนะนำให้ใช้ควบคู่กับทายากลุ่มสเตียรอยด์ในช่วงแรกๆ แล้วค่อยๆ ลดความถี่ในการทาครีมสเตียรอยด์ เมื่ออาการเริ่มดีขึ้น แต่ยาตัวนี้ก็มีข้อจำกัดก็คือ ราคาแพงพอดูทีเดียว (หลอดละ 500 กว่าบาทต่อการบรรจุหลอด 30 กรัม มีทั้งแบบครีมทาและโลชั่นกรณีที่เป็นที่หนังศีรษะ )

2. การฉายแสง (Phototherapy) และหรือควบคู่กับยารับประทาน: มักจะใช้ในกรณีที่ผื่นมีบริเวณกว้างกว่า 20 % ของผิวหนัง หรือผื่นค่อนข้างกระจัดกระจาย ทำให้การทายาไม่ค่อยสะดวก แบ่งได้เป็น
2.1 การฉายแสงอัตราไวโอเล็ตบี: ได้ผลดีกับโรคสะเก็ดเงินที่เป็นมากหรือปานกลาง คือได้ผลประมาณ 80% ขึ้นไป แต่ก็มีผลข้างเคียงได้แต่น้อย ได้แก่ อาการคันและอาการแดงหรือใหม้ของผิวหนัง แต่ก็มีข้อจำกัดก็คือ ผู้ป่วยต้องมาทำการรักษาที่โรงพยาบาลประมาณ 2-4 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา2-3 เดือนติดต่อกัน และมักจะมีให้บริการเฉพาะรพ.ของรัฐหรือเอกชน เช่น ที่สถาบันโรคผิวหนัง เป็นต้น
2.2 การฉายแสงอัตราไวโอเล็ตบีร่วมกับการรับประทานยาซอลาเร็น(PUVA): โดยพบว่าได้ผลดีในการรักษาโรคสะเก็ดเงินที่เป็นมาก ได้ผลประมาณร้อยละ 85 โดยผู้ป่วย ต้องมารับการฉายแสงรักษาสัปดาห์ละ 2 ครั้งประมาณ 20-30 ครั้ง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 10 สัปดาห์ และให้การรักษาต่อประมาณ 2-3 เดือน จึงจะทำให้โอกาสกลับมาเป็นซ้ำลดลง แต่ก็มีผลข้างเคียงได้ ที่พบบ่อย ได้แก่ การคลื่นไส้ คัน และอาการแดง หรือใหม้ของผิวหนัง ในระยะยาว อาจเกิดผลข้างเคียง ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ แต่ก็พบน้อยในคนไทย เนื่องจากมีผิวสีคล้ำ
2.3 กรดวิตามินเอ: ที่ใช้กันมากก็คือ เอ็ดเทร็ดทิเนต ซึ่งได้ผลดีปานกลางถ้าใช้รับประทานเดี่ยวๆ แต่จะได้ผลดีถ้ารับประทานควบคู่กับการฉายแสงอัตราไวโอเลต ผลข้างเคียงที่พบ ก็คือ ทำให้ผิวแห้ง ลอกเป็นขุย ยาตัวนี้จะมีผลข้างเคียงคล้ายๆ กับยากลุ่มเรตินอยด์ ( เช่น Roaccutane) ก็คือ ทำให้ไขมันในเลือดสูงได้ ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ ทำให้ตับอักเสบ ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้จึงควรตรวจเลือดทุกๆ 1-3 เดือน แต่พบว่ายานี้มีข้อจำกัดก็คือ ต้องหยุดยาเกิน 2 ปีจึงจะสามารถตั้งครรภ์ได้ หรือ ถ้าใช้ยาเกิน 1 ปีอาจจะทำให้เกิดกระดูกงอกได้ จึงต้องระวังในผู้ป่วยเด็ก
2.4 ยาเม็ทโทเทร็กเสด( MTX): ได้ผลดีและราคาไม่แพง แต่ก็มีผลข้างเคียงสูง เช่น ตับอักเสบ ตับแข็ง มักไม่ค่อยนิยมใช้ ยกเว้นผู้ป่วยจะไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการฉายแสงอัตราไวโอเลต
2.5 ยา Cyclosporin: ยาดังกล่าวได้ผลดีมากโดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง มักจะให้กรณีที่รักษาด้วยยาทา การฉายแสง หรือการให้กรดวิตามินเอ แล้วไม่ได้ผล เพราะยามีผลข้างเคียงสูงมาก เช่น ทำให้ความดันโลหิตสูง ไตอักเสบ ตับอักเสบ จึงต้องตรวจเลือดเช็คเป็นระยะๆ
โรคนี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผิวหนัง อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพราะการรักษา อาจมีการหมุนเวียนสลับกัน เพราะถ้าใช้การรักษาอย่างเดิม อาจเกิดการดื้อยา หรือ เกิดผลข้างเคียงจากยา และแนะนำให้รักษาในรพ.ของรัฐ โดยเฉพาะที่สถาบันโรคผิวหนัง ที่มีคลินิกรักษาโรคสะเก็ดเงินโดยเฉพาะ มีเครื่องมืออาบแสงที่ทันสมัย และราคาไม่แพง

136811434

Related