เล็บ (Nails): เล็บนั้นสำคัญอย่างไร อาการแบบไหนที่เล็บผิดปกติ หรือบ่งบอกโรคบางอย่างได้
เล็บ เป็นสิ่งหนึ่งในร่างกายที่สำคัญ สามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากภายนอก ถือว่าเล็บเป็นอวัยวะที่บ่งบอกความสวยงามอย่างหนึ่ง ทุกคนต้องการให้เล็บมีสุขภาพดี ดูสวยและดูดี
อัตราการงอกของเล็บ
อัตราการงอกของเล็บจะมีประมาณ 0.1-0.2 มม.ต่อวัน อาจจะงอกได้ช้าหรือเร็วกว่านี้ได้บ้าง โดยพบว่าอายุประมาณ 15-30 ปี จะเป็นช่วงที่เล็บยาวเร็วที่สุด โดยจะพบว่าอัตราการงอกของเล็บมือจะยาวเร็วกว่าเล็บเท้าประมาณ 2 เท่า เราจึงต้องตัดเล็บมือบ่อยกว่าเล็บเท้า และ ปกติคนเราจะนิยมตัดเล็บกัน 1-2 อาทิตย์ต่อครั้ง ลักษณะเล็บปกติ
จะมีสีชมพูอ่อนๆ เรียบเสมอกัน ไม่มีรอยหยัก หรือโค้งงอ
หน้าที่และความสำคัญของเล็บ
- ไว้หยิบจับสิ่งของที่มีขนาดเล็ก ชิ้นเล็กๆ
- ไว้เกา เวลาคัน เพราะถ้าไม่มีเล็บ คุณก็จะเกาได้ไม่สะดวก คงหงุดหงิดพอสมควร
- ไว้ฉีกอาหาร หรือสิ่งของบางอย่างให้เป็นชิ้นเล็กๆ
- ไว้ป้องกันตัว เช่น ขูด ขีด ข่วน ใบหน้า ( ใช้กรณีจำเป็นจริงๆ นะครับ)
- ไว้เกาศีรษะ เวลาสระผม
- ช่วยในการเดินหรือวิ่งอย่างมีประสิทธิภาพ บางท่านที่เคยโดนถอดเล็บเท้า จะพบว่าเดินไม่ถนัด
- เพื่อความสวยงาม บ่งบอกลักษณะ สุขภาพ รสนิยม บุคลิก ของผู้ที่เป็นเจ้าของเล็บที่สวยงามนั้นได้
- ใช้บอกโรคบางชนิดของอวัยวะภายในต่างๆ ได้
ปัญหาความผิดปกติของเล็บที่พบบ่อย
- จมูกเล็บอักเสบ หรือ เล็บขบ (Paronychiae) มักพบได้บ่อยที่สุด โดยพบในกลุ่มผู้หญิงแม่บ้านที่มือเปียกน้ำบ่อยๆ และกลุ่มที่ชอบทำเล็บตามร้านเสริมสวย มีการตัดเล็มจมูกเล็บทำให้เกิดช่องว่างในซอกเล็บ แล้วน้ำเข้าไปเซาะขังอยู่ ทำให้เกิดการอักเสบภายหลัง
ลักษณะของเล็บจะบวมแดงนูนออกมา มีอาการเจ็บปวดอักเสบบางครั้งร่วมกับอาการคัน เล็บมักจะปกติดี จมูกเล็บอักเสบเมื่อเกิดแล้ว ไม่ค่อยหายขาด เนื่องจากช่องว่างระหว่างขอบเล็บไม่ปิดสนิทแล้ว ส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าตนเองเป็นเชื้อราที่เล็บ
2. เล็บเป็นเชื้อรา (Tinea Unguium) พบไม่บ่อยนัก และมักพบในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น โรคเบาหวาน โรคเอดส์ ฯลฯ
ลักษณะเล็บจะเปลี่ยนสีไป เช่น อาจจะดำคล้ำขึ้น สีเขียวหรือเหลือง ลักษณะเล็บเปลี่ยนรูปร่าง บิดเบี้ยว โค้งงอ แตกเปราะ หรือเป็นขุย
3. เล็บกร่อน (Onycholysis) ลักษณะเล็บจะผุ กร่อน แตกหัก เปราะง่าย เล็บขยุกขยุย เสียรูปทรง เป็นลูกคลื่นบ้าง บุ๋มบ้าง โค้งงอ หนาขึ้นบ้าง ฯลฯ สีเล็บจะต่างจากเดิมไปบ้างเล็กน้อย ภาวะนี้เกิดขึ้นเองไม่ทราบสาเหตุชัดเจน รักษาแก้ไขได้ยาก การทานวิตามินบำรุงเล็บ เช่น ไบโอติน จะช่วยได้บ้าง
4.สะเก็ดเงินที่เล็บ (Psoriasis) โรคสะเก็ดเงิน นอกจากจะมีผื่นสะเก็ดหนาที่ศีรษะ ตัวศอก เข่าแล้ว ยังเกิดความผิดปกติที่เล็บได้ด้วย
ลักษณะเล็บหนาขึ้นที่ปลายเล็บมองเห็นได้ (Subungual hyperkeratosis) เล็บบุ๋ม (Pitting) เล็บเป็นลูกคลื่น (Ridging) รักษาค่อนข้างยาก ไม่หายขาด
อาการของเล็บ บ่งบอกลักษณะโรคบางโรคได้
- โรคหัวใจและโรคปอดเรื้อรัง อาจจะพบลักษณะของเล็บปุ้ม เล็บงุ้มมากผิดปกติ (clubbing finger) เล็บซีดเขียว
- โรคไต อาจจะพบลักษณะของเล็บมีสีแตกต่างกัน (half and half nail) คือ ส่วนที่อยู่ชิดโพรงจมูกเล็บจะมีสีขาว ส่วนอีกครึ่งหนึ่งส่วนปลายเล็บเป็นสีปกติ เกิดจากบริเวณใต้ฐานเล็บมีการบวม
- โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (melanoma) อาจจะทำให้ เล็บเปลี่ยนสี มีจุด สีดำ หรือแถบสีดำเกิดขึ้นได้ที่บริเวณเล็บ เป็นต้น ฯลฯ
วิธีดูแลปกป้องรักษาทะนุถนอมเล็บ
- อย่าล้างมือบ่อยเกินไป หลังล้างมือแล้ว เช็ดให้แห้ง เป่าลมร้อนช่วยด้วยจะยิ่งทำให้เล็บแห้งได้สนิท
- ถ้าจำเป็นต้องล้างจาน ซักผ้า ถูบ้าน ควรใส่ถุงมือเป็นประจำให้เป็นนิสัย
- ทาโลชั่นที่บำรุงมือและเล็บโดยเฉพาะ (Hand and nail) อย่างสม่ำเสมอ
- พยายามทาสีเล็บให้น้อยลงเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เล็บได้พักผ่อน หลีกเลี่ยงการเพ้นท์สีเล็บที่อาจจะมีสารเคมีทำลายเนื้อเล็บได้
- หลีกเลี่ยงทำเล็บบ่อยๆ ที่ร้านเสริมสวย เพราะช่างมักจะแคะเล็ม ตัดจมูกเล็บให้เสียหาย
- ตัดเล็บให้มีขนาดสั้นพอประมาณ เพราะการไว้เล็บยาวเกินไปอาจทำให้เล็บเกิดฉีกขาดได้ง่าย