ปากแห้ง คอแห้ง น้ำลายเหนียว สาเหตุจากอะไร อันตรายหรือไม่ จะแก้ไขอย่างไรให้ดีขึ้น
ปากแห้ง คอแห้ง หมายถึง ริมฝีปาก และภายในบริเวณ ช่องปากทั้งหมด แห้งหรือไม่มีน้ำลาย นอกจากจะทำให้รู้สึกอึดอัด ไม่สบายในช่องปากแล้ว ยังพบว่า ผู้ที่อยู่ในสภาวะปากแห้งจะพบว่าฟันจะผุ เป็นแผลได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณคอฟันเพราะไม่มีน้ำหรือน้ำลาย มาชะล้างคราบอาหารออกจากผิวฟัน และทำให้มีกลิ่นปากได้ นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะเหงือกอักเสบ เป็นแผลร้อนในได้ง่าย
สาเหตุ ที่ทำให้เกิดปากแห้งมีหลายสาเหตุที่พบได้บ่อยๆ ดังนี้
- การขาดน้ำ ผู้ที่ดื่มน้ำน้อยหรืออยู่ในสภาวะบางอย่างที่ดื่มน้ำไม่ได้ เช่น ผู้ที่พูดอยู่เป็นเวลานาน ผู้ที่ท้องเสียรุนแรง ภาวะไข้สูง
- ผู้ที่ออกกำลังกายเสียเหงื่อออกมาก และไม่ได้ดื่มน้ำชดเชยปริมาณที่พอเพียง
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้ไข้หวัด ยาลดน้ำมูก ยารักษาสิวบางตัว( ที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่ Roaccutane,Isotane,Acnotin) ยากดประสาททางจิตเวช ซึ่งยาเหล่านี้ จะลดการไหลของน้ำลายลงไปด้วย จะทำให้ปากและคอแห้งในช่วงที่รับประทานยาอยู่ และอาการปากแห้งจะหายไปเมื่อหยุดยา
- ผู้ที่หายใจทางปาก ซึ่งอาจเกิดจากโรคหรือสภาวะบางอย่าง เช่น ขณะเป็นหวัดมีการบวมของเยื่อบุโพรงจมูก หายใจไม่ออกต้องหายใจทางปาก ก็ทำให้ปากแห้งได้หรือผู้ที่เป็นโรคโพรงจมูกอักเสบ มีเนื้องอกในโพรงจมูก หายใจไม่สะดวก ต้องหายใจทางปากแทน ผู้ที่นอนอ้าปากหรือนอนหายใจทางปาก ทำให้ปากและคอแห้งได้ สังเกตได้จากตื่นเช้ามา มักจะเจ็บคอ หรือคอแห้ง
- ผู้ที่ได้รับการฉายรังสี เพื่อรักษาโรคมะเร็ง โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า และลำคอหลังจากฉายแสงแล้วมีอาการปากแห้งได้ เพราะต่อมน้ำลายและต่อมที่ผลิตน้ำเมือกถูกทำลาย น้ำลายจึงน้อยลงซึ่งทำให้เกิดสภาวะปากแห้งอยู่ตลอดเวลา
- ความเครียด เชื่อว่าความเครียดจะทำให้ต่อมน้ำลาย และน้ำเมือกทำงานลดลง
การแก้ไข
ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะปากแห้ง คอแห้ง จะต้องจิบน้ำบ่อยๆ และแนะนำว่าควรจะเป็นน้ำเย็นหรือน้ำที่ไม่ร้อนมาก เพราะน้ำร้อนจะไปทำให้อาการปวดแสบปวดร้อนที่เกิดจากปากแห้งเป็นมากขึ้น และควรเป็นน้ำสะอาดไม่ควรเป็นน้ำผลไม้ น้ำอัดลม หรือน้ำหวาน เพราะน้ำเหล่านี้มีกรด และน้ำตาลผสมอยู่ ถ้าจิบบ่อยๆ นอกจากจะทำให้ฟันผุได้ง่ายแล้ว ยังจะทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาล มากเกินความจำเป็นได้ นอกจากนี้การดื่มน้ำอัดลมบ่อยๆ จะทำให้ท้องอืดได้ ส่วนผู้ที่หายใจทางจมูกไม่สะดวก ควรให้แพทย์ตรวจดูเพื่อหาสาเหตุ และแก้ไขเสีย ควรป้องกันฟันผุ ด้วยการอมน้ำยาบ้วนปากฟูลออไรด์ที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้สภาวะปากแห้งมากขึ้น และควรให้ทันตแพทย์ทำความสะอาดฟัน และเคลือบฟลูออไรด์ทุก 6 เดือนด้วย