Alopecia Areata (โรคผมร่วงหย่อม)
คือ โรคผมร่วงที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง และมักพบในช่วงอายุ 20-50 ปี พบในชายและหญิงได้เท่าๆ กัน แม้จะไม่กระทบต่อสุขภาพกายทั่วไปของผู้ที่มีปัญหาผมร่วงหย่อม แต่กระทบกระเทือนต่อภาวะจิตใจพอสมควร
-ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของโรคนี้ แต่ปัจจัยที่มีผลได้แก่ กรรมพันธุ์ (ซึ่งพบได้ประมาณ 10-20%) ภาวะภูมิต้านทาน ความเครียด โรคภูมิแพ้หนังศีรษะ ลักษณะอาการที่พบได้คือ ผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกตัว เนื่องจากจะมีผมร่วงเกิดขึ้นทันทีทันใด และไม่มีอาการผิดปกติอย่างอื่นที่สังเกตได้เห็นชัด เว้นแต่ช่างตัดผม เป็นคนสังเกตเห็นและบอกแก่ผู้ป่วย โดยจะพบรอยแหว่ง ขอบเขตชัดดังรูป ขนาด 2-5 ซม. อาจพบเพียงหย่อมเดียวหรือหลายๆหย่อม คล้ายหนูแทะ ในคนที่มีอาการรุนแรง อาจศีรษะล้านทั้งหัว และอาจไม่มีขนตามรักแร้ หัวหน่าว ร่วมด้วย
แนวทางการรักษา
1. ครีมทา: ที่มีส่วนผสมของ Steroids ทาบริเวณที่ร่วง วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3-4 เดือน
2. โลชั่นปลูกผม ที่มีส่วนผสมของ Minoxidil ทาบริเวณที่ร่วง วันละครั้ง เป็นเวลาต่อเนื่อง 3-4 เดือน
3. การรับประทานยา แพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป หรือใช้ในรายที่เป็นรุนแรง
4. ฉีดยา Steroids เข้าที่บริเวณรอยโรค ถ้าทายาแล้วผมไม่ขึ้น แต่ไม่นิยมในปัจจุบัน เนื่องจากอาจเกิดรอยบุ๋มได้ และเกิดภาวะดื้อยาภายหลังได้
5. Mesohair โดยการฉีดตัวยาที่มีส่วนทำให้เส้นผมงอก เช่น ไมนอกซิดิล ไบโอติตน เสตียรอยด์เจือจาง ฯลฯ เข้าไปที่บริเวณผมร่วงเป็นหย่อมๆโดยตรง ในปริมาณน้อยๆ ทุก 1 ตร.ซม ซึ่งจะช่วยป้องกันผลข้างเคียงการเกิดรอยบุ๋มจากการรักษาแบบเดิมๆ ในข้อ 4 ได้
6. การทำภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการให้สารที่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ที่ผิวหนังลงบนบริเวณที่ผมร่วง เพื่อทำให้เกิดการอักเสบที่จะนำไปสู่การกระตุ้นให้ผมกลับมางอกขึ้นใหม่ได้อีกครั้ง แต่วิธีการนี้มีผลข้างเคียงที่อาจทำให้เกิดโรคผิวหนังชนิดอื่นตามมาได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคผมร่วงเป็นหย่อม
โรค Alopecia Areata อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ดังนี้
- อาการทางร่างกาย ผู้ป่วยอาจเสี่ยงเป็นโรคทางภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเกี่ยวกับไทรอยด์ โรคด่างขาว หรือโรคโลหิตจาง เป็นต้น
- อาการทางจิตใจ ผู้ป่วยอาจเกิดความเครียด รู้สึกแปลกแยก หรืออาจเป็นโรคซึมเศร้าได้
การป้องกันโรคผมร่วงเป็นหย่อม
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดป้องกันโรค Alopecia Areata ได้ แต่สามารถรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นและทำให้ผมงอกกลับมาใหม่ให้เร็วที่สุด โดยผู้ป่วยควรดูแลตนเองและป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นตามมา รวมทั้งคนทั่วไปก็อาจหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคนี้ เช่น
- ผ่อนคลายความเครียด เพราะความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคได้
- เลือกรับประทานอาหารที่มีสารบำรุงเส้นผม เช่น วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี และธาตุสังกะสี เป็นต้น
- ใส่วิก สวมหมวก หรือทาครีมกันแดดบริเวณหนังศีรษะที่เกิดอาการ เพื่อป้องกันแสงแดดทำอันตรายต่อหนังศีรษะ
- สวมแว่นกันแดดในกรณีที่โรคนี้ส่งผลให้ขนตาร่วง เพราะอาจมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตาได้เนื่องจากไม่มีขนตาคอยป้องกัน