โรคปากนกกระจอก( Angular stomatitis) เป็นก็ง่าย หายก็ยาก สาเหตุมีมาก ไม่ใช่เฉพาะขาดวิตามิน

ผิวหนัง

26 กรกฎาคม 2005


โรคปากนกกระจอก คือ ภาวะอักเสบบริเวณมุมปาก เกิดแผลบริเวณมุมปากด้านใดด้านหนึ่ง หรือทั้งสองด้าน มีรอยแตก และแยกออกจากกัน ส่วนใหญ่เข้าใจว่าเกิดจากการขาดวิตามินบี 2 ( Riboflavin) แม้แต่แพทย์ทั่วไปหลายๆ ท่าน ก็ทำการรักษาโดยให้วิตามินบี 2 ทั้งๆ ที่สาเหตุจากการขาดวิตามินดังกล่าว พบได้น้อยมาก
ลักษณะอาการที่พบ คือ จะมีการหลุดลอกของเซลล์หนังกำพร้าบริเวณมุมปาก แล้วต่อมาเกิดเป็นแผล และอาจติดเชื้อแบดทีเรียแทรกซ้อน อักเสบ ปวดเจ็บได้

สาเหตุของโรคปากนกกระจอก แบ่งได้ดังนี้

  1. ปัญหาของโรคผิวหนังเอง เช่น Atopic dermatitis, Seborrheic dermatitis ทั้งสองแบบนี้ เป็นสาเหตุของโรคปากนกกระจอกที่พบได้บ่อยที่สุด 
  2. ผู้ป่วยสูงอายุ ที่ไม่มีฟัน ทำให้รูปปากผิดปกติ ทำให้เกิดการอับชื้นที่มุมปาก เกิดการติดเชื้อจากเชื้อราได้
  3. การขาดอาหาร ได้แก่ การขาดวิตามินบี 2 การขาดธาตุเหล็ก การขาดวิตามินซี และการขาดโปรตีน(พบได้น้อย)
  4. การติดเชื้อแทรกซ้อน จากเชื้อแบคทีเรีย
  5. ภาวะน้ำลายมากกว่าปกติ ( Hypersalivation)

แนวทางการป้องกันและรักษา 

  1. หาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดโรคปากนกกระจอก แล้วรักษาที่สาเหตุ อาการดังกล่าวจะหายได้
  2. ทำความสะอาดช่องปาก เช็ดมุมปากให้แห้งตลอดเวลา
  3. กรณีที่ไม่ได้ใส่ฟัน ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหา
  4. การใช้ยาป้ายแผลในปาก เช่น kenalog in oral base ได้ผลดีในแง่แผลที่เกิดจากภาวะอักเสบจากภูมิแพ้

ดังนั้น กรณีที่เป็นปากนกกระจอก ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นโรคขาดอาหารเสมอไป ควรมองหาสาเหตุข้างต้นด้วย เพื่อจะได้รักษาได้ตรงสาเหตุ 

Related