ชายวัยทอง (Andropause ): ภาวะพร่องฮอร์โมน ที่ทำให้ความเป็นชายลดลง แก้ไขอย่างไร?
ชายวัยทอง (Andropauase) คืออะไร
เดิมเรามีความเชื่อกันว่า ผู้ชายจะคงความเป็นชายหรือมีการสร้างฮอร์โมนเพศชายไปตลอดชีวิต ส่วนผู้หญิงนั้นเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้วรังไข่จะหยุดการสร้างฮอร์โมนเพศหญิง จึงเรียกว่าวัยหมดประจำเดือน
แต่ความรู้ใหม่ พบว่าไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิง ต่างก็ต้องก้าวเข้าสู่วัยทองกันทั้งนั้น โดยมีการวิจัยทางการแพทย์จากหลายๆ ประเทศพบว่า ชายทุกคน เมื่ออายุย่างเข้าวัย 40 ปีขึ้นไป การสร้างฮอร์โมนเพศชายจะลดลงอย่างสม่ำเสมอทุกปี โดยจะมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลงปีละประมาณร้อยละ 1 และเมื่ออายุ 65 ปีจะมีระดับฮอร์โมนนี้ลดลงกว่าช่วงวัยรุ่นถึงร้อยละ 25 เมื่อระดับของฮอร์โมนเพศชายลดลงถึงระดับหนึ่งจะเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายไปบางส่วน ทำให้เกิดอาการต่างๆคล้ายกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
อาการ ! ที่บ่งบอกถึง ” ภาวะการพร่องฮอร์โมนเพศชาย “
– เครียด หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย บางครั้งอาจจะรู้สึกซึมเศร้า อยากอยู่คนเดียว ไม่ชอบพบปะผู้คนหรือเข้าสังคม
– เหงื่อออกมาก เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว สมาธิลดลง นอนไม่ค่อยหลับ หรือหลับก็หลับไม่สนิท
– โครงสร้างของร่างกาย เช่น กระดูกต่างๆ เริ่มเสื่อมถอย (แม้จะไม่ชัดเจนเหมือนผู้หญิง) กล้ามเนื้อเริ่มมีขนาดเล็กลง ไม่กระชับ มีการหย่อนคล้อยของกล้ามเนื้อ โดยจะสังเกตได้ชัดที่กล้ามเนื้อต้นแขน
– สมรรถภาพทางเพศลดลง ซึ่งเรื่องนี้แหละที่ผู้ชายส่วนใหญ่วิตกกังวลกันมากเป็นพิเศษ
– การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้ชายวัยทองที่เห็นได้ชัดอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ การเผาผลาญไขมันจะลดลง จึงทำให้มีไขมันส่วนเกินได้ง่าย ดังนั้นผู้ชายวัยทองจึงมักจะลงพุง
– กำลังวังชา เริ่มถดถอย มีอาการเหนื่อยง่าย เมื่อต้องออกแรงหรือทำงานหนัก
– ผิวหนัง เริ่มหย่อนคล้อย ริ้วรอยมากขึ้น ริมฝีปากบาง และผมบางมากขึ้น
– มีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น โรคหัวใจ กระดูกพรุน ต่อมลูกหมากโต ปัสสาวะออกลำบาก
ปัจจัยที่ทำให้ฮอร์โมนเพศชายลดลงเร็วกว่าปกติ
นอกจากอายุซึ่งเป็นปัจจัยทางธรรมชาติที่ทำให้ระดับฮอร์โมนเพศชายลดลงแล้ว ปัจจุบันยังมีปัจจัยเสริมอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้ผู้ชายเข้าสู่วัยทองเร็วกว่าปกติ นั่นคือ
– เรื่องของกรรมพันธุ์
– การทำงานหนัก และพักผ่อนน้อย
– มีความเครียดตลอดเวลา
– ความอ้วน
– การขาดสารอาหารบางชนิด (เช่น แร่ธาตุสังกะสี เบต้าแคโรทีน)
– การดื่มเหล้า สูบบุหรี่
– มีโรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไตวาย ฯลฯ)
– การกินยาบางชนิด (เช่น ยารักษาไทรอยด์)
– การออกกำลังกายที่มากเกินไป เป็นต้น
– สรุปได้ว่าอะไรก็ตามที่ทำให้ร่างกายเสื่อมถอยเร็ว จะทำให้มีการหมดฮอร์โมนเร็วขึ้นด้วยเช่นกัน
การวินิจฉัย
เนื่องจากมีความแตกต่างของการขาดฮอร์โมนเพศในชายและหญิงวัยทอง คือ ในผู้ชายวัยทองฮอร์โมนเพศจะค่อยๆ ลดลง และไม่ได้ขึ้นกับอายุ อีกทั้งยังมีความแตกต่างกันผู้ชายแต่ละคน บางคนอาจจะเริ่มมีปัญหาตั้งแต่อายุน้อยๆ (น้อยกว่า 40 ปี ) แต่ผู้ชายที่มีอายุ 80 ปีบางคนก็ยังมีฮอร์โมนเพศและสุขภาพยังดีอยู่ก็ได้ จึงจำเป็นต้องมีเกณฑ์การวินิจฉัยดังนี้
1. อาศัยอาการ ด้วยการประเมินอาการ 3 ด้าน คือ ด้านร่างกายและระบบไหลเวียน ด้านจิตใจ และด้านเพศ โดยอาศัยแบบสอบถาม ซึ่งช่วยในการคัดกรอง และใช้ในการติดตามผล
2. จากการตรวจเลือด เพื่อหา
2.1 ฮอร์โมนเทสทอสเตอโรน แบบรวม(Total testosterone )
2.2 Sex Hormone Binding Globulin(SHBG) ในช่วงเวลา 6.00-8.00 น. และควรงดอาหารก่อนตรวจอย่างน้อย 8 ชม. (อาจจะดื่มน้ำได้บ้างตอนเช้า) จึงจะได้ค่าที่ถูกต้องและใกล้เคียงความจริง
แล้วนำผลเลือดทั้งสองมาคำนวณให้ได้ค่าฮอร์โมนเทสทอสเตอโรนอิสระ (Free Testosterone) ซึ่งมีความแม่นยำกว่าการตรวจ เทสทอสเตอโรนรวม แล้วนำผลมาพิจารณาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน
แต่จริงๆ แล้วชายวัยทอง ไม่มีตัวเลขระดับฮอร์โมนเทสทอสเตอโรนที่แน่นอนว่าเท่าไหร่ จึงจะเรียกว่าภาวะพร่องฮอร์โมน ดังนั้นแนวความคิดใหม่ของแพทย์ ด้าน Anti-Aging จึงมักจะแนะนำให้ผู้ชายทุกคน ควรตรวจวัดระดับฮอร์โมนเพศชายในช่วงที่ยังไม่มีอาการผิดปกติ และตรวจติดตามทุก 10 ปี ว่ามีแนวโน้มการลดลงของฮอร์โมนเพศชายหรือไม่ หรือเมื่อเริ่มมีอาการทางกาย อารมณ์ และเรื่องทางเพศ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น นอกจากนี้ แพทย์ ด้าน Anti-Aging อาจจะมีการตรวจระดับฮอร์โมนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น FSH,LH,Estradiol,DHEA,Growth hormone(IGF-1) ว่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่
จะดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเข้าสู่อาการชายวัยทอง
ถึงแม้มนุษย์จะไม่สามารถเอาชนะความเสื่อมถอยได้ แต่ก็พอมีวิธีที่จะยืดเวลาแห่งความเป็นหนุ่ม ให้ยืนยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้ภายใต้เงื่อนไขของธรรมชาติเอง นั่นคือ
1. อาหาร: นอกจากการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่แล้ว ชายวัยทองควรจะเน้นการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนชนิดดีในปริมาณที่สูง เช่น ปลา สัตว์ปีก พืชตระกูลถั่ว เต้าหู้ งาดำ ผักใบเขียว เป็นต้น และควรจะรับประทานแคลเซียม ซึ่งจะเป็นตัวเสริมสร้างกระดูก ชายวัยทองควรจะได้รับแคลเซียมวันละ 1,500 มิลลิกรัม เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน นอกจากนี้ ควรจะควบคุมระดับไขมันในเส้นเลือด โดยงดรับประทานอาหารที่มีโคลเลสเตอรอลสูง เช่น หอยนางรม ไข่แดง ควรงดของที่มีรสหวาน ชา กาแฟ อัลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้ระดับฮอร์โมนในเลือดลดลงได้
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ: เช่น การเดิน การวิ่งเหยาะๆ เต้นรำ เป็นต้น
3. การบริหารสุขภาพจิต: เพื่อลดความเครียดจากอาการทางกาย เช่น การไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ การเล่นโยคะ การมีสังคมกับคนรอบข้าง มองโลกในแง่ดี หลีกเลี่ยงการอยู่คนเดียว
4. ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอปีละ 1 ครั้ง: ตรวจเช็คความดันโลหิต ตรวจเลือดหาระดับไขมัน ตรวจภายในเช็คมะเร็งต่อมลูกหมาก ตรวจหามะเร็งลำไส้ มะเร็งตับอ่อน และตรวจหาความหนาแน่นของกระดูก (Bone mineral density
5 การให้ฮอร์โมนทดแทน (Testosterone Replacement Therapy) :
การใช้ฮอร็โมนเพศชายทดแทนในผู้ชายวันทองนั้น เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคที่พอจะป้องกันได้ และประวิงเวลาของโรคที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ข้อดีของการให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน คือ การให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทนในผู้ชายวัยทองให้เข้าสู่ระดับปกติ โดยไม่สูงเกินไป จะมีประโยชน์เพื่อลดปัญหาที่เกิดในชายวัยทองดังได้กล่าวมาข้างต้น โดยปัจจุบันมีการให้การให้ฮอร์โมนทดแทนชายวัยทอง ในหลายรูปแบบ เช่น
แบบรับประทาน : พบว่าเดิมมีการใช้การให้ฮอร์โมนทดแทนแบบรับประทาน แต่พบว่ามีโอกาสเกิดมะเร็งตับได้ ถ้าทานติดต่อกันนานๆ เพราะตัวยารับประทานอาจจะผ่านตับได้
กรณีที่ใช้ฮอร์โมนทดแทนเพศชายแบบทานติดต่อกันนานๆ แนะนำให้ตรวจระดับฮอร์โมน ความเข้มข้นของเลือด (Hematocrit) และตรวจเช็คมะเร็งต่อมลูกหมาก และอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ไม่ควรจะซื้อยามารับประทานเอง
แบบฉีด : เหมาะสำหรับคนไข้ที่มีระดับฮอร์โมนเพศชาย Testosterone ต่ำมากๆ หรือผู้สูงอายุ (มากกว่า 60 ปี) โดยจะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศชายได้เร็วกว่าแบบอื่นๆ และสะดวกในการใช้ เพราะฉีด 1-3 เดือนต่อครั้ง แต่บางครั้งก็พบว่า ทำให้ระดับฮอร์โมนเพศชายลดลงได้เร็วเช่นกัน และพบว่ามีรายงานว่า การเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศชายอย่างรวดเร็ว จะทำให้ฮอร์โมนเพศชายบางส่วน เปลี่ยนแปลงเป็นฮอร์โมนเพศหญิง(Estrogen) โดยผ่านกระบวนการ Aromatase Activites จึงมักจะมีการเสริมการให้สังกะสี ควบคู่ไปด้วย เพื่อรบกวนการทำงานของเอนไซม์ Aromatase กรณีที่ใช้ฮอร์โมนทดแทนเพศชายแบบฉีด แนะนำให้ตรวจระดับฮอร์โมน ความเข้มข้นของเลือด (Hematocrit) และตรวจเช็คมะเร็งต่อมลูกหมาก(PSA) เป็นระยะๆ หรือตามแพทย์สั่งอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกับแบบรับประทาน
แบบทา (Transdermal Testosterone): จัดเป็นฮอร์โมนทดแทนเพศชาย ที่ปลอดภัยและไม่มีผลข้างเคียงมาก โดยระดับฮอร์โมนเพศชายจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น และไม่เปลี่ยนแปลงเปลี่ยนแปลงเป็นฮอร์โมนเพศหญิง(Estrogen) โดยผ่านกระบวนการ Aromatase Activites ) และไม่ทำให้มีโอกาสเกิดมะเร็งตับหรือต่อมลูกหมากมากขึ้น
แบบเหน็บ หรือฝังใต้ผิวหนัง : จัดเป็นฮอร์โมนทดแทนเพศชาย ที่ปลอดภัยและไม่มีผลข้างเคียงดังสองแบบแรก เช่นกัน และได้ผลใกล้เคียงกับแบบทา สะดวกที่ไม่ต้องทาทุกวัน แต่ไม่สะดวกสำหรับบางคน เพราะมักจะฝังไว้ที่บั้นท้าย เป็นที่นิยมในแถบยุโรป แต่ในเอเซีย ยังนิยมแบบทาและรับประทานมากกว่า
ข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน
- เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือว่าสงสัยจะเป็น
- เป็นมะเร็งเต้านม หรือสงสัยว่าจะเป็น
- ต่อมลูกหมากโตทีมีอาการอุดตันการปัสสาวะที่รุนแรง
- มีความเข้มข้นของเลือดมากเกินไป
- มีการหยุดหายใจขณะหลับ
- หัวใจล้มเหลวอย่างรุนแรง
- ต่อมลูกหมากโตอย่างรุนแรง จนมีอาการของการอุดตันทางเดินปัสสาวะ
- แพ้ฮอร์โมนเพศชาย
การติดตามชายวัยทองที่ได้รับฮอร์โมนทดแทน
ควรมีการตรวจระดับฮอร์โมนเริ่มต้นไว้ก่อน ที่จะให้ฮอร์โมนทดแทน และการตรวจซ้ำเมื่อครบทุก 3 เดือน หรือทุกปี แล้วแต่แพทย์จะนัดติดตามผล นอกจากการตรวจฮอร์โมนเพศเพื่อการวินิจฉัยภาวะพร่องฮอร์โมน แล้วควรตรวจ
- การตรวจเพื่อคัดกรองหาโรคในผู้สูงอายุทั่วไป เช่น ดัชนีมวลกาย สัดส่วนรอบเอวต่อรอบสะโพก ความดันโลหิตสูง ความเข้มข้นของเลือด เบาหวาน ไขมันในเลือด โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคต่อมลูกหมากโต มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ ถ้าหากไม่มีปัญหาค่าใช้จ่ายก็อาจจะตรวจความหนาแน่นของกระดูกเพิ่มเติม
- ประเมินพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของชุมชน
- ผู้ที่ใช้ฮอร์โมนทดแทน ควรได้รับการตรวจ ความเข้มข้นของเลือด และ PSA (เพื่อคัดกรองหามะเร็งของต่อมลูกหมาก) ทุก 3 เดือน