Posted on

ฟิลเลอร์คืออะไร : รู้ก่อนฉีด รู้ก่อนทำ ผ่านอ.ย.มั้ย ไม่พอใจ แก้ไขยังไง จึงจะได้ผล ปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง

ฟิลเลอร์คืออะไร แตกต่างจากการฉีดโบทอกซ์อย่างไร

– ฟิลเลอร์(Fillers) แปลว่าสารเติมเต็ม จึงทำงานเกี่ยวข้องการเติมส่วนทีพร่องหายไป ให้เต็มขึ้น กระชับขึ้น เพื่อจะลดปัญหาจากเนื้อหรือคอลลาเจนตามธรรมชาติของร่างกายที่ลดลง( Volumn loss ) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความหย่อนคล้อย จากของเดิมที่ไม่มี เช่นการฉีดฟิลเลอร์เติมร่องแก้มที่ลึก การฉีดฟิลเลอร์ร่องตาที่ลึก การฉีดฟิลเลอร์เสริมดั้งจมูก การฉีดฟิลเลอร์ให้ริมฝีปากอวบอิ่ม การฉีดฟิลเลอร์เสริมคาง ซึ่งความลึกตื้นในการฉีดส่วนใหญ่จะฉีดในชั้นหนังแท้ (Dermis) เป็นส่วนใหญ่ซึ่งอยุ่เหนือชั้นไขมัน และกล้ามเนื้อ
– ส่วนการฉีดโบทอกซ์จะทำงานกับกล้ามเนื้อเป็นหลัก ฉีดในชั้นกล้ามเนื้อ เพื่อลดการทำงานของกล้ามเนื้อที่เราไม่ต้องการ เช่น ลดริ้วรอยจากการขยับของตีนกาเวลายิ้ม การย่นหน้าผาก การย่นเวลาขมวดคิ้ว หรือกล้ามเนื้อกรามใหญ่ฉีดกล้ามเนื้อให้หน้าเรียวเล็ก หรือการฉีดใต้ผิวหนัง เพื่อยกกระชับปรับรูปหน้า

ฟิลเลอร์จะเลือกยี่ห้อไหนดเช็คยังไงว่าผ่าน อ.ย.

-ฟิลเลอร์ในปัจจุบันที่ปลอดภัย และแพทย์นิยมใช้กัน จะต้องเป็นกลุ่มสารไฮยาเท่านั้น (Hyaluronic acid-HA) และต้องเป็นสารไฮยาที่ไม่ได้สกัดจากสัตว์ จึงมีโอกาสแพ้น้อย ขบวนการสังเคราะห์ไฮยาลูรอนิกนี้จะมีลักษณะโมเลกุลคล้ายกับสารไฮยาลูรอนิกใน ร่างกายมนุษย์ และขอย้ำว่าเท่านั้นนะครับ และมีเพียงไม่กี่ยี่ห้อที่ผ่านอย.เมืองไทย ท่านต้องตรวจสอบให้ดี ถามหมอให้แน่ชัดว่าใช้ยี่ห้ออะไร จำไม่ได้ ถ่ายรูปยี่ห้อและบาร์โค้ดด้านหลังไปตรวจสอบด้วย เพราะปัจจุบันของปลอมเยอะมาก สังเกตง่ายๆ ถ้าราคาถูกว่าท้องตลาดผิดปกติ ให้คิดไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นของเลียนแบบ
ตัวอย่างของฟิลเลอรืที่ผ่าน อย.ได้แก่
– กลุ่ม ที่ 1 Esthelis Basic, Esthelis Soft, Fortelis Extra, Modelis
– กลุ่มที่  2  Juvederm Forma , Juvederm Refine, Juvederm Ultra, Juvederm Ultra XC, Juvederm Ultra Plus, Juvederm Ultra Plus XC
– กลุ่มที่3  Restylane, Restylane Lipp,  Restylane Perlane, Restylane Sub Q, Restylane Touch, Restylane Vital Light ,Restylane Vital Light Injector, Revanesse Ultra
– กลุ่มที่ 4 Perfectha Subskin,Perfectha Deep,Perfectha Derm.

ฟิลเลอร์สามารถฉีดได้ทุกบริเวณของร่างกายหรือไม่ ใครที่ไม่ควรฉีด

– ปัจจุบันนี้ แพทย์ทั่วโลกที่ได้มาตรฐานสากลเดียวกันนะครับ จะฉีดฟิลเลอร์เฉพาะบริเวณใบหน้าเท่านั้นนะครับ โดยเลือกฉีดเฉพาะบริเวณที่มีปัญหาจาก Volumn loss จริงๆ และฉีดปริมาณไม่มากนัก
– โดยทั่วใป ก็จะฉีดเติมร่องแก้ม ริ้วรอย  เป็นส่วนใหญ่ ส่วนการเสริมดั้งจมูก  เสริมคาง เติมขมับ ริมฝีปาก ร่องตา  โหนกแก้ม หรือฉีดฟิลเลอร์ยกกระชับ จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ไม่ใช่จะฉีดได้กับทุกรายนะครับ
– ส่วนรอยหลุมจะฉีดได้เฉพาะกรณีที่รอยหลุมนั้นไม่มีพังผืดยึดเกาะ ถ้ามีพังผืดฉีดลำบาก ฉีดแล้วไม่เต็ม 100% 
-การฉีดฟิลเลอร์ตรงรอยย่นเวลาขมวดคิ้ว ตำแหน่งนี้ก็เสี่ยงต่อไปอุดตันเส้นเลือดที่มาเลี้ยงดวงตา เปลือกตาบน ไม่ฉีดฟิลเลอร์กัน เสี่ยงต่อการเกิดก้อนได้มาก
– ส่วนการฉีดฟิลเลอร์เพื่อเพิ่มขนาดหน้าอก เพิ่มสะโพก หรือส่วนอื่น ๆ นอกจากนี้ นอกจากอย.จะไม่อนุญาตให้ฉีดแล้ว ยังไม่ควรจะฉีดนะครับ ต้องใช้ปริมาณที่มาก และเสี่ยงต่อฟิลเลอร์จะหลุดกระจายไปอุดตันเส้นเลือดหรือบริเวณที่สำคัญของร่างกาย

คนไม่ควรฉีดฟิลเลอร์

ได้แก่
1. พวกที่แพ้สารไฮยา ฉีดไ่ม่ได้เด็ดขาด 
2. สำหรับสตรีมีครรภ์ ผู้ที่ให้นมบุตร
3. ผู้ที่มีปัญหาเลือดออกแล้วหยุดยาก มีแผลฟกช้ำง่าย
4. ผู้ที่มีความหย่อนคล้อยมากๆ ผิวหน้าบาง พวกนี้ต้องระวังและเลือกชนิดฟิลเลอร์ที่ละเอียด เพราะเสี่ยงต่อการเป็นก้อน ดูไม่ธรรมชาติได้
5. ผู้ที่มีประวัติเป็นเริม หรืองูสวัด พวกนี้มักจะเป็นๆ หายๆ ช่วงที่มีอาการหรือกำลังกลับมาเป็นอีก อย่าเพิ่งฉีดฟิลเลอร์นะครับ อาจจะทำให้อาการกำเริบมากขึ้นได้ แต่ถ้าเคยเป็นและอาการสงบ ฉีดได้ไม่มีปัญหา
6. ผู้ที่มีประวัติ ภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น SLE ผู้ที่ป่วยด้วยโรคประจำตัวร้ายแรง เช่น มะเร็ง ระยะลุกลาม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อพิจารณาเป็นรายๆ ไป

ฟิลเลอร์มีผลข้างเคียงหรือไม่

ผลข้างเคียงจากการฉีดสารเติมเต็ม พอจะสรุปได้ดังนี้

  1. ฉีดไม่ถูกตำแหน่ง เช่นฉีดตื้นหรือลึกเกินไป ทำให้ได้ผลไม่ดีตามต้องการ
  2. ถ้าเกิดฉีดฟิลเลอร์เติมร่องใต้ตา แล้วเกิดไปอุดตันทางเดินน้ำเหลือง จะทำให้ตาดูบวมๆคล้ายถุงใต้ตา
  3. เป็นก้อนๆหรือตะปุ่มตะป่ำ อันนี้พบได้บ่อย โดยเฉพาะบริเวณร่องแก้มหรือใต้ตาที่ฉีดตื้นเกินไป
  4. บริเวณที่ฉีดมีเส้นเลือดฝอยแดงเกิดขึ้น เป็นผลจากอนุภาคสารเติมเต็มไปอุดตันเส้นเลือดฝอยในจุดนั้น มักพบได้บ่อยในกรณีที่ต้องการฉีดเสริมปลายจมูก
  5. เนื้อเยื่อข้างเคียงตาย จากการที่อนุภาคของสารเติมเต็มไปอุดตันเส้นเลือดขนาดกลาง พบได้บริเวณข้างและปีกจมูกจากการเติมร่องแก้มหรือการฉีดเสริมจมูก
  6. เกิดการอักเสบติดเชื้อ พบได้บ่อยมากขึ้นในกรณีที่ฉีดเติมปลายจมูกให้ยาวขึ้นหรือเพื่อเป็นหยดน้ำใน จมูกที่มีแท่งซิลิโคนอยู่แล้ว กรณีนี้ต้องถอดแท่งซิิลิโคนออกเท่านั้นจึงจะดีขึ้น
  7. กรณีฉีดฟิลเลอร์จมูก หลายๆครั้ง โดยไม่ยอมให้ฟิลเลอร์เก่าสลายไปหมดก่อน อาจจะทำให้จมูกดูบวมๆ ไม่ได้รูปทรงที่ต้องการ
  8. ตาบอด อันนี้สาหัสสุด มักเกิดจากการฉีดเสริมจมูกอย่างผิดวิธีทำให้อนุภาคของสารเติมเต็มหลุดเข้าไป อุดตันเส้นเลือดที่ดวงตา ซึ่งเราคงเคยได้ข่าวมาบ้างแล้วในเมืองไทย

สรุปนะครับ หัวใจสำคัญที่ต้องคำนึงก่อนการฉีดฟิลเลอร์ ควรมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบมี 3 ประการ

  1. สารที่ฉีด ต้องแน่ใจว่าเป็นฟิลเลอร์ Hyaluronic Acid ที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่ใช่สารอื่นที่หลอกว่าเป็นฟิลเลอร์ หรือเป็นฟิลเลอร์ราคาถูกที่มีขายตามเวปไซด์หรือนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย เพราะเสี่ยงที่จะเป็นฟิลเลอร์ปลอม หมดอายุ ไม่ได้คุณภาพ และดูภายนอกอาจจะไม่แตกต่าง ต้องอาศัยความเขี่ยวขาญและความน่าเชื่อถืออื่นๆมาประกอบกัน
  2. แพทย์ที่ฉีด เพราะการฉีดฟิลเลอร์จำเป็นอย่างมากที่แพทย์ต้องมีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ทางกายวิภาคอย่างเชี่ยวชาญ มีเทคนิคการฉีดต้องถูกต้องเหมาะสม มีการประเมินรูปร่างว่าบริเวณใดต้องฉีด มากน้อยเพียงใด และฉีดสารในชั้นผิวหนังที่ถูกต้อง ในปริมาณที่เหมาะสม
  3. เพราะเมื่อฉีดสารเข้าไปย่อมมีโอกาสเสี่ยงในการที่จะไปโดนเส้นเลือดหรือ บริเวณอื่นที่ไม่ต้องการ นำมาซึ่งอันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิตหรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้
  4. สถานที่ฉีด ต้องฉีดในสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย มีเครื่องมือช่วยชีวิตยามฉุกเฉิน

ฟิลเลอร์อยู่ได้นานแค่ไหน หลังการ สลายได้มั้ย หลังฉีดควรปฏิบัติตัวอย่างไร 

– สาร HA อยุ่ได้นานประมาณ 4-12 เดือน แตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดย่อยๆ ของสาร HA โดยพบว่าตัวที่มีโมเลกุลใหญ่ จำนวน Cross-Link ของสาร HA สูง ก็จะอยู่นานกว่าแต่เต็มที่ ส่วนใหญ่ไม่เกินนี้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นข้อดี เพราะเมื่อไม่พอใจ ก็จะสลายไปเองตามธรรมชาติ ไม่ต้องไปแก้ไขหรืออย่างมาก
– ถ้าฟิลเลอร์เป็นสารไฮยา-HA สามารถฉีดให้สลายได้เห็นผลทันทีหลังทำ โดยตัวยา Hyaluronidase แต่ถ้าเป็น ฟิลเลอร์ที่ไม่ผ่านอย. นอกจากซิลิโคนเหลว ยังมี Radiesse ( calcium hydroxlapatite),Sculptra ( poly-L-lactic acid),Artefill , Aquamid,Aqualift,Aquaderm ฯลฯ  ฯลฯ พวกนี้ฉีดสลายไม่ได้ ต้องขูดออกอย่างเดียว จำง่ายๆ
– ถ้าเจอใครบอกว่าฉีดฟิลเลอร์ อยู่ได้หลายปี นะครับ ท่านฟันธงได้เลยว่าสารฟิลเลอร์พวกนี้ ไม่ผ่านอย.และฉีดสลายให้หมดไปไม่ได้ นอกจากนี้ ยังจะมีโอกาสเกิด granuloma( เนื้อเยื่องอกผิดปกติใต้ผิวหนัง) ถึง 30 เปอร์เซนต์ เมื่อเกิดแล้ว จะเป็นก้อนตะปุ่มตะป่ำ ดูไม่สวย และแก้ไขไม่ได้นะคับ

หลังการ ฉีด Filler ควรปฏิบัติตัวอย่างไร 

  1. ห้ามนอนราบ 3 ชั่วโมง
  2. ข้อห้ามภายใน 2 วันควรเลี่ยงยาหรือสารที่อาจจะมีผลต่อการฟกช้ำได้ง่าย เช่นยากลุ่ม Aspirin,ยาแก้ปวดข้อบางชนิด เช่น Brufen,Voltaren วิตามินอี หรืออัลกอฮอล์ อย่างน้อย 24 ชม การออกกำลังกาย การเข้าซาวน่า
  3. ข้อห้ามภายใน 2 อาทิตย์ โดนความร้อน หรือ ทำเลเซอร์ ทรีทเม้นท์ ที่มีความร้อน เช่น RF ยกกระชับ ทำ IPL ทำ Fractional Laser Co2 กรอผิว ทำ AHA ลอกหน้า เป็นต้น ตลอดจนการใช้ไดร์เป่าผม เข้าซาวน่า อบไอน้ำ เพราะความร้อนจะทำให้ Filler (ฟิลเลอร์) สลายเร็วขึ้น
  4. ทานน้ำเยอะเยอะ วันละ 2 ลิตรได้ยิ่งดีเพราะจะช่วยให้ Filler (ฟิลเลอร์) คงสภาพได้นานขึ้นเพราะฟิลเลอร์เป็นสารที่อุ้มเก็บกักน้ำได้ค่อนข้างดี ถ้าหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ได้ก็จะดีมาก