สาเหตุของผมร่วง
ผมร่วง-ผมบาง-หัวล้าน : เป็นปัญหาที่พบได้ 10 % ของคนเอเซีย และ 50% ในคนยุโรป อเมริกา โดยพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ผมร่วงถ้าเกิน 100 เส้นต่อวัน ถือว่าผิดปกติ ต้องรีบหาสาเหตุแก้ไข ก่อนจะหัวล้าน
สาเหตุของผมร่วง
1. ผมร่วงแบบมีแผลเป็น: มักเกิดจากการมีบาดแผล หรืออุบัติเหตุ เป็นส่วนใหญ่ บางครั้ง อาจเกิดจากการติดเชื้อเช่น งูสวัด โรคSLE ซึ่งมักแก้ไข หรือทำให้เกิดผมใหม่ได้ยาก แบบนี้อาจจะต้องใช้วิธีผ่าตัดปลูกย้ายรากผม ( Hair Transplantation)
2. ผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น: 90% ของผมร่วง จะเป็นแบบไม่มีแผลเป็น พอจะมีทางแก้ไขให้มีผมงอกขึ้นมาใหม่ได้ โดยสาเหตุของผมร่วงชนิดนี้ แบ่งย่อยได้เป็น
2.1 กรรมพันธุ์ พบได้ 30% ของคนที่มีปัญหาผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น มักเกิดได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง บางคนอาจพบว่าผมเริ่มร่วงและบาง ตั้งแต่วัยรุ่นและศีรษะล้าน-บาง ก่อนวัยกลางคนเสียอีก ลักษณะผมบางจากกรรมพันธ์ุ มักจะพบค่อยๆ เถิกไปทางด้านหน้า หรือแง่งผม คล้าย M-Shaped
2.2 ฮอรโมนเพศชาย DHT สูงกว่าปกติ : พบได้ 30% โดยฮอร์โมน ทำให้อายุขัยของเส้นผมสั้นกว่าปกติ ทำให้ผมงอกใหม่ทดแทนไม่ทัน ลักษณะผมบางจาก DHT สูงมักจะพบค่อยๆ ผมร่วงบางบริเวณกระหม่อม หรือกลางศีรษะ ในผู้ชาย หรือบางทั่วๆ ไป ในผู้หญิง
2.3 ความเครียด(Stress) พบว่าความผิดปกติทางอารมณ์ จะทำให้หลอดเลือด ที่มาเลี้ยงบริเวณหนังศีรษะหดตัว ทำให้เซลล์ผมขาดสารอาหาร จึงทำให้ผมแฟบเล็กลงและร่วงในที่สุด ผมร่วงจากความเครียด มักจะร่วงทั่วไปทั้งศีรษะ บางเท่าๆ กัน
2.4 โรคผมร่วงหย่อม (Alopecia Areata -AA ) ปัจจุบันยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงได้ แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรรมพันธุ์ ปฎิกิริยาออโตอิมมูนในร่างกาย ความเครียด ลักษณะผมร่วงประเภทนี้ จะร่วงแหว่งเป็นวงๆ อาจจะวงเดียวหรือหลายวง ได้เขียนบทความไว้แล้วที่นี่
2.5 การติดเชื้อที่หนังศีรษะ( Infection) จาก เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา บนหนังศีรษะ ซึ่งจะทำให้หนังศีรษะอักเสบเกิดอาการคัน มีรังแค จึงเกิดการเกาและดึงรั้งเส้นผม ทำให้ผมร่วง ลักษระผมร่วงแบบนี้ มักจะร่วงทั่วๆ ไป หรือบางหย่อมได้
2.6 โรคประจำตัวบางอย่าง(Chronic Disease) เช่น มะเร็ง โรคต่อมทัยรอยด์ผิดปกติ ซิฟิลิส หรือ ได้รับสารหรือแพ้ยาบางตัว เช่น ยาต้านมะเร็ง ยาในกลุ่มรักษาโรคไทรอยด์ หรือจากผลของยาบางตัว เช่น
– ยาในกลุ่มรักษาโรคหัวใจหรือใจสั่น
– ยาในกลุ่มป้องกันการแข็งตัวของเลือด
– ยารักษาโรคเก๊าท์ วิตามินA
– ยาเคมีบำบัดการฉายรังสี
2.7 ผลจากการกระทำของตนเอง( Trichotillomania) ซึ่งเกิดจากอุปนิสัยของเราเอง เช่น การชอบถอนผม การแกะเกา ดึงทึ้งผม การถอนผมคัน เวลาเผลอ ที่เวลาใช้ความคิด
– หรือคนไข้ที่มีปัญหาทางสภาพจิตใจ เครียด แล้วดึงทึ้งผม มักจะทำซ้ำๆ โดยมักจะเกิดบริเวณเดิม ๆ และมีรูปแบบของการบางไม่ชัดเจนเหมือนแบบอื่นๆ
การป้องกันและรักษา
1. การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดปลูกผม
1.1 หาสาเหตุ โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย หรือาอาจจะตรวจเลือด ถ้าพบสาเหตุก็จะรักษาที่สาเหตุที่ทำให้ร่วงก่อน เช่น รักษาภาวะอักเสบของหนังศีรษะ การติดเชื้อ ลดภาวะเครียด แก้ไขพฤติกรรมในบางอย่างในผู้ป่วยที่ชอบดึงทึ้งผม แก้ไขโรคประจำตัวที่มีปัญหาเกี่ยวข้องกับผมร่วง
1.2. กรณีที่ผมร่วงจากพันธุกรรม หรือ ฮอร์โมน DHT พบได้บ่อยสุดถึง 60-70 % สามารถทำการรักษาได้่ง่ายๆ 3 วิธีดังนี้
1.2.1 การเลือกใช้แชมพู โลชั่น ยารับประทาน ควรรับประทานยาลดระดับฮอร์โมน DHT และทาโลชั่นปลูกผม และ/หรือร่วมกับการรับประทานวิตามินสำหรับเส้นผม
1.2.2 Laser Hair : ใช้เลเซอร์ ชนิด Diode Laser ทำการปล่อยแสงเลเซอร์พลังงานต่ำ หรือเรียกว่า เลเซอร์เย็น(Cold beam) ไปที่หนังศีรษะ โดยไปออกฤทธิ์กระตุ้นที่เซลล์เส้นผม เพื่อให้เส้นผมเพิ่มจำนวนมากขึ้น เส้นผมแข็งแรงขึ้น ขนาดโตขึ้น ทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า Photo-Biostimulation ซึ่งกล่าวถึง “แสงคือพลังงานอย่างหนึ่ง สิ่งมีชีวิตทุกชนิด สามารถอยู่รอดได้ด้วยแสง และเซลล์เส้นผมก็คือสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่ง จึงเข้าข่ายในทฤษฎีนี้ด้วย”
1.2.3 Meso-hair : เป็นการฉีดสูตรยา หรือคอกเทลยา กับวิตามินสำหรับเส้นผม หรือบางคนใช้ PRP ที่เป็นเลือดปั่นเอาพลาสมา ที่เชื่อว่ามี Stem cell สร้างเส้นผมใหม่ ฉีดด้วยปืนดิจิตอลเข้าไปที่หนังศีรษะที่บาง ลึกลงไปถึงเซลล์ผม ซึ่งเป็นการรักษาที่นำมาเสริมการรับประทานยาและยาทา โดยมีรายงานจากฝรั่งเศสว่า ช่วยทำให้เส้นผมงอกได้เร็วขึ้นและเพิ่มขึ้น กว่าเดิมถึง 2-3 เท่า
2. การทำศัลยกรรมปลูกย้ายรากผม :
– การปลูกย้ายเซลรากผม ( Hair transplantation) เป็นการแก้ปัญหาผมบาง ศีรษะล้านโดยการทำศัลยกรรมตกแต่ง โดยการปลูกผมทดแทน คือ การย้ายหนังศีรษะรวมทั้งตุ่มผม( hair follicles) จากบริเวณที่มีผมดกไปทำการปลูกทดแทนในบริเวษหนังศีรษะที่ไม่มีผม ผมบาง หรือตุ่มผมไม่ทำงาน มักจะใช้ในกรณีที่ศีรษะล้านมาก หรือใช้การรักษาด้วยวิธีที่ 1 แล้วได้ผลไม่เต็มที่ โดยอาจจะใช้การผ่าตัดด้วยศัลยแพทย์เฉพาะทางเส้นผม หรือใช้หุ่นยนต์ปลูกย้ายรากผม ระยะเวลาและจำนวนครั้งในการทำผ่าตัดขึ้นอยู่กับขนาดของบริเวษศีรษะที่ไม่มีผม โดยเซลล์ผมที่ย้ายมาปลูก จะมีลักษณะเหมือนกับเส้นผมที่ท้ายทอย ซึ่งทนทานไม่ร่วงหลุดได้ ได้ผลไว แต่หลังทำ ก็ต้องป้องกันด้วยการรับประทานยา ป้องกันผมร่วงกลับมาใหม่