Posted on

สิว ไม่อยากไปหาหมอ หรือร้านยา สั่งออนไลน์มีหลักในการเลือก และใช้ยาอย่างไร

ยาสิวมีอะไรบ้าง เลือกตัวไหน แล้วใช้อย่างไร

1. ครีมแก้อักเสบฆ่าเชื้อสิว : ที่นิยมใช้กันในการทาเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียสิว ได้แก่ กลุ่ม Erytromycin,Clindamycin
วิธีใช้ แนะนำว่าก่อนใช้ ควรล้างหน้าให้สะอาดด้วยน้ำอุ่น ซับให้แห้ง แล้วค่อยทายาให้ทั่วบริเวณที่เป็นสิว วันละ 2 ครั้ง การทาครั้งแรกๆ อาจจะรู้สึกแสบหรืออุ่นบริเวณที่ทา ทิ้งไว้อาการจะหายไปได้เอง ควรทายาทิ้งไว้จนแห้งสนิทจึงค่อยทายารักษาสิวตัวอื่นๆ ไม่ควรหยุดยาเอง แม้อาการสิวจะดีขึ้น
ข้อควรระวัง ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะกลุ่มนี้มักจะต้องใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยๆ จากการทากลุ่มนี้ คือ ผิวหนังแห้ง ระคายเคือง การเก็บรักษายากลุ่มนี้ ควรเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา ไม่ต้องแช่แข็ง
2. Benzoyl peroxide( BP) : จัดเป็นครีมทาป้องกันและรักษาสิวที่ดีตัวหนึ่ง ที่ยังไม่มีรายงานการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียสิว
วิธีใช้ มักจะให้ทาก่อนล้างหน้า ก่อนทาครีมตัวนี้ ต้องล้างเครื่องสำอางออกให้หมด และทำผิวหน้าให้สะอาดก่อน อาจจะทาทั่วหน้าหรือทาทิ้งไว้บริเวณที่เป็นสิว ประมาณ 5-15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำเปล่า
ข้อควรระวัง การทายาครั้งแรกๆ อาจจะรู้สึกแสบหรืออุ่นเล็กน้อย ถ้าทนไม่ไหว อาจจะลดระยะเวลาในการทาทิ้งไว้ เหลือ 5 นาที วันละครั้ง เมื่อสภาพผิวหนังปรับสภาพทนยาได้ดีขึ้น จึงค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาในการทาทิ้งไว้ให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงการทายา บริเวณที่ผิวหน้าบอบบาง เช่น รอบดวงตา ริมฝีปาก หรือเนื้อเยี่ออ่อน ระวังยาอย่าให้สัมผัสกับเสื้อผ้า หรือเส้นผม เพราะยาอาจจะกัดให้เกิดรอยด่างได้
– กรณีที่ต้องการใช้ยาทาวิตามินเอร่วมด้วย (เพื่อรักษาสิวอุดตัน) ควรทายาห่างกันอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพราะนอกจากจะทำให้ยาออกฤทธิ์ได้น้อยลงแล้ว ยังทำให้ผิวหน้าระคายเคืองได้มากขึ้นได้

3. ครีมทาสิวอุดตันกลุ่มวิตามินเอ ( Retinoids ) : จัดเป็นกลุ่มยาทาที่ใช้กันบ่อยๆ ในการรักษาสิว โดยเฉพาะกลุ่มสิวอุดตัน เช่น Retin-A , Tretinoin, Differin
วิธีใช้ ควรใช้เมื่อผิวหน้า แห้งสนิทหลังล้างหน้าประมาณ 20 นาที จะช่วยลดการระคายเคืองลงได้ ระยะเวลาในการเห็นผลจึงต้องใช้เวลานาน 2-3 สัปดาห์ การทาครั้งแรกๆ อาจจะรู้สึกแสบหรืออุ่นบริเวณที่ทา ควรทายาทั่วใบหน้าในตอนกลางคืน และใช้ครีมกันแดดในช่วงเช้า
ข้อควรระวัง ไม่แนะนำให้ทาตอนเช้า เพราะตัวยาจะไวต่อรังสียูวี ในสัปดาห์แรกๆ ของใช้ยาทากรดวิตามินเอ อาจจะเกิดอาการสิวเห่อได้มากขึ้น ไม่ต้องหยุดทายา ให้ทาต่อไปเรื่อยๆ สิวจะค่อยๆ ฝ่อและหลุดหายไป
อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยๆ คือ ผิวหนังลอก แดง และแห้ง ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่การแพ้ยา เมื่อผิวหน้าปรับสภาพได้ดีขึ้น อาการเหล่านี้จะลดลง
4. ยารับประทานกลุ่มวิตามินเอ(Vitamin A derivatives): ได้แก่ Roaccutane,ISOTANE,Acnotin เป็นยารับประทานสำหรับกรณีรักษาสิวที่เป็นรุนแรง ลดหน้ามัน
ข้อควรระวัง ผิวหน้าจะไวต่อแสง ปากแห้ง คอแห้ง ตาแห้ง (ควรหลีกเลี่ยงในผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์) ผมร่วง (พบได้ร้อยละ 10) มีผลต่อทารกในครรภ์ และระดับไขมันในเลือดสูง หรือตับทำงานผิดปกติได้ ยากลุ่มนี้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

5. ยาปฏิชีวนะรับประทาน : หรือยาแก้อักเสบที่ใช้รักษาสิว ยากลุ่มนี้ ควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ที่นิยมใช้กันก็ได้แก่
5.1 กลุ่มยา Tetracycline : ที่นิยมใช้และรู้จักกันดี ได้แก่ Tetracyclines,Doxycycline
ข้อควรระวัง
1. ไม่ควรรับประทานช่วงที่ท้องว่าง เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้
2. ไม่แนะนำให้ทานร่วมกับนมหรือยาลดกรดหรือยาที่มีส่วนผสมของธาตุเหล็ก เพราะจะทำให้การดูดซึมยาลดลง
3. ไม่แนะนำให้ทานร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดลดลง หรือถ้าจำเป็น ควรทานห่างกันประมาณ 2 ชั่วโมง หรือเลือกคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่น ยาฉีดคุมกำเนิดหรือถุงยางอนามัย
5.2 กลุ่มยา Co-trimoxazole : อาทิเช่น Bactrim มักจะใช้กรณีที่สิวที่เกิด ไม่ได้เกิดจากเชื้อสิวปกติ
วิธีใช้ หลังรับประทานควรดื่มน้ำตามมากๆ เพื่อป้องกันการเกิดนิ่ว มักจะพบปัญหาแพ้ยากลุ่มนี้ได้บ่อย อาการที่พบได้ คือ เกิดตุ่มน้ำพองใส มีผื่นแพ้ คัน และเจ็บคอ ถ้ามีอาการผิดปกติดังกล่าว ควรหยุดยาทันที และรีบปรึกษาแพทย์
6. ยาทาลอกขุย (Peeling Agents) : ได้แก่กลุ่ม Salicylic acids,AHA,BHA,Sulfur มักจะใช้ในการรักษาสิวบริเวณอื่นๆ เช่น ลำตัว คอ แขน ขา เพื่อทำให้เกิดการหลุดลอกของสิว ทำให้สิวฝ่อ หรือทำให้หัวสิวเปิดออก แล้วหยุดออกไปเอง
วิธีใช้ เวลาใช้ต้องล้างหน้าและอาบน้ำให้สะอาด (กรณีสิวตามลำตัว) ซับให้แห้ง ทายาบางๆ 1-2 ครั้งต่อวัน โดยไม่ต้องล้างออก ถ้าต้องใช้ยาต้านแบคทีเรียสิว ชนิดน้ำหรือเจลร่วมด้วย แนะนำให้ทาหลังยากลุ่มนี้ ยาอาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองผิว ไม่ต้องหยุดยา อาการจะหายไปได้เอง เมื่อใช้ยาไปซักระยะเวลาหนึ่ง ยากลุ่มนี้เมื่อใช้ไปนานๆ มักจะการเปลี่ยนสภาพ เช่น สีอาจจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาล แสดงว่ายาเสื่อมสภาพ ให้ทิ้งไปไม่ต้องใช้ต่อ

Posted on

ผิวมัน (Oily Skin) ทาแป้งไม่ติด คิดแก้ไขอย่างไร จะได้ไม่เกิดสิว รูขุมขนกว้าง

ผิวมัน เกิดจากอะไร

ผิวมันเกิดจากต่อมไขมันบนใบหน้าผลิตน้ำมันออกมามากเกินไป โดยมักพบได้ในชาย มากกว่าหญิง พบในวัยรุ่น จนถึงวัยกลางคน ปัญหาหน้ามันเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดสิวอักเสบ สิวอุดตัน และรูขุมขนกว้าง ในภายหลังได้ โดยปัจจัยที่อาจทำให้หน้ามัน ได้แก่

  • กรรมพันธุ์ ลักษณะทางพันธุกรรมที่ทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามากเกินไป อาจถูกส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นได้
  • สภาพอากาศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศก็อาจทำให้เกิดหน้ามันได้เช่นกัน
  • ระดับฮอร์โมนเพศชายในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น เข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์ หรือป่วยด้วย ซึ่งเป็นความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อจนทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายขาดความสมดุล
  • การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าหรือเครื่องสำอาง เพราะเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์บางชนิดอาจทำให้ความมันบนใบหน้าขาดความสมดุล

การป้องกันและแก้ไข

 1. ผลิตภัณฑ์ล้างหน้า ควรเลือก สบู่ล้างหน้า อาจเป็นก้อน หรือ สบู่เหลวก็ได้ เพราะในสบู่ จะมีสารที่ทำให้เกิดฟอง ซึ่งสามารถลดความมันบนใบหน้าได้ ผู้ที่มีผิวมัน สามารถล้างหน้าได้บ่อย 4-5 ครั้งต่อวันได้ ในกรณีที่ไม่สามารถพกพาสบู่ล้างหน้าไปได้ในทุกที่ การล้างหน้าด้วยน้ำสะอาดบ่อยๆ หรือทุกครั้งที่หน้ามัน ก็เป็นสิ่งที่ดี การใช้เจลล้างหน้า หรือโฟม ควรเลือกเป็นพิเศษสำหรับผิวมัน แต่มักล้างความมันบนใบหน้าได้น้อยกว่าสบู่ล้างหน้า
     2. โลชั่นหรือโทนเนอร์ เพื่อเช็ดหน้าลดความมัน เป็นสิ่งที่แนะนำให้ใช้ ถ้าล้างหน้าด้วยสบู่อย่างเดียวแล้วผิวหน้ายังมันอยู่
     3. Oil Control Products ซึ่งจะช่วยซับความมัน ควรเลือกที่มีอนุภาคเล็กๆ ที่สามารถแทรกซึมเข้าไปซับได้ในรูขุมขน ซึ่งต้องมีขนาดที่เล็กมากเป็น Micron 
     4. ครีมกันแดด เลือกลักษณะที่เป็นโลชั่น หรือ ครีมที่มี SPF = 15 ก็เพียงพอ เพราะถ้าเลือกครีมกันแดด ที่มี SPF สูงกว่านี้มักจะมีความมันสูง ก่อนใช้ครีมกันแดดยี่ห้อใด ควรลองทาครีมบริเวณท้องแขน เพื่อทดสอบอาการแพ้ หรือ ความมัน ก่อนการตัดสินใจในการซื้อครีมกันแดด
     5. หลีกเลี่ยงของมัน ขนมหวาน ไอสครีม และอาหารที่มีแคลอรี่สูง หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด

6. ยาเม็ดคุมกำเนิด ที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมน Progesterone เฉพาะชนิดที่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมน Angrogen ได้ จึงสามารถทำให้ต่อมไขมันผลิตไขมันลดลงได้ แต่การทำงานดังกล่าวอาจรบกวน การมีประจำเดือนในผู้หญิงได้ จึงได้มีการเสริมฮฮร์โมนเพศหญิงคือ Estrogen ร่วมด้วย  จึงอยู่ในลักษณะคล้ายยาคุมกำเนิด คือบรรจุเป็นแผง 21 เม็ด ที่นิยมใช้ในคลินิกผิวหนังก็คือ Dian-35  แต่ในผู้ชาย ไม่แนะนำให้รับประทาน เพราะมีผลต่อระดับฮอร์โมนเพศชาย อาจจะทำให้สมรรภภาพทางเพศลดลง หรือมีนมโต( Gynecomastia )ได้ ซึ่งแม้จะหยุดทานยา อาการนมโต ก็ไม่อาจจะหายได้
7. ยารักษาสิว กลุ่ม Retinoids เช่น Roaccutane หรือ Acnotin วันละ10-20 มก.ต่อวัน ก็เป็นการช่วยได้มาก เพราะยาในกลุ่มนี้ จะช่วยลดการสร้างไขมันที่ต่อมไขมันบนใบหน้า นอกจากนี้ยังช่วยรักษาปัญหาสิวอุดตัน รูขุมขนกว้าง และริ้วรอยแผลเป็นได้ดี แต่ก็ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์  เพราะกรณีที่รับประทานติดต่อกันนานๆ อาจจะมีผลต่อตับ และไขมันในเลือดผิดปกติได้ นอกจากนี้ อาจจะมีอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
8. Fractional Laser:   ที่ความยาวช่วงคลื่น 1550 nm  เช่น Fraxel หรือ Fine scan 1550 nm โดยพบว่าพลังงานเลเซอร์ได้ไปทำให้ต่อมไขมัน ทำงานลดลง จึงลดหน้ามันได้ดี ปัจจุบันแพทย์จะแนะนำให้เลือกวิธีนี้ มากกว่าการรับประทานยา ลดหน้ามัน เพราะไม่มีผลข้างเคียง แลัวยังช่วยรักษาและป้องกันสิวได้ทุกชนิด กระชับรูุขุมขน ลดริ้วรอย ฯลฯ