Posted on

เล็นไร (Demodex spp.) ไรขนที่คนคิดไม่ถึง ว่าจะชอนไชใบหน้า สาเหตุปัญหาผิวอักเสบ

เล็นไร (Demodex spp.) คืออะไร

เล็นไร หรือไรขน เป็นปรสิตใน Class Arachnida,Order Acarina ที่อาศัยบริเวณต่อมขน (Hair follicles) หรือ ที่ท่อนำไขมัน (Secretory ducts of Sebaceous gland) ซึ่งพบได้อยู่ 2 ชนิดคือ D.folliculosum,D.brevis มักจะพบในผู้ที่มีอายุเกิน 30 ปี และไม่พบในเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปี
บริเวณที่พบได้บ่อย ได้แก่ บริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น ร่องจมูก รองมาก็บริเวณ โหนกแก้ม หน้าผาก คาง ศีรษะ
อาการแสดง เล็นไร ทำให้ผิวหน้าเกิดผื่นแดง หรือต่อมขนอักเสบได้ ผื่นเกิดจากร่างกายมีการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อเล็นไร มีลักษณะเป็นตุ่มนูนแดงขนาดน้อยกว่า 1 ซม.(Papule) หรือมากกว่า 1 ซม.( Nodule) หรือเป็นตุ่มหนอง (Pusetule)
– ในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้นกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเอดส์ อาจจะพบอาการรุนแรงมาก จนเกิดเป็นตุ่มน้ำ (Vesicles) หรือสะเก็ดหนอง

ตรวจอย่างไรถึงจะเจอ โดยการขูด หรือกดสารที่อยู่ในท่อไขมัน บริเวณที่สงสัย หรืออักเสบเป็นผื่นแดง ไปเกลี่ยลงในสไลด์แก้ว แล้วหยด glycerin 1 หยด ปิดด้วย cover slip แล้วนำไปส่องกล้องจุลทรรศน์หัวต่ำ
– โดยในคนปกติ จะมีตัว Demodex ขนาด 0.1-0.9 มม. อยู่ประมาณ 2-3 ตัวต่อกำลังขยาย 4X
– แต่กรณีที่ทำให้เกิดโรค หรืออาการ (Demodicosis) จะพบตัวเล็นไรมากกว่านี้หลายเท่า
แนวทางการรักษา ปกติถ้าไม่มีอาการใด ไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะตัวเล็นไร พบได้ปกติในผิวหน้าคนเราอยู่แล้ว แต่ถ้าพบมากกว่า 4 ตัวต่อกำลังขยาย4X และพบ อาการอักเสบ ตุ่มแดง อาจจะต้องรักษาดังนี้
1. ทา 25% BP emulsion วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3-5 วัน
2. ทา 1% Lindane วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3-5 วัน หรือ
3. ทา 5% BP lotions ร่วมกับ 5% Sulhur ลดการอักเสบ เป็นเวลา 3-5 วัน หรือ
4. ทา 1% Premethrin cream ทิ้งไว้ 10 นาทีแล้วล้างออกทุกวัน ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือ
5. ทา Clotamiton วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3-5 วัน
6. ล้างหน้าด้วยสบู่ที่มีตัวยา antiseptic ทุกวัน

Posted on

งูสวัด( Herpes zoster) คืออะไร ถ้าเป็น รอบตัวครบวง ทำให้เสียชีวิตได้ ชัวร์หรือมั่วนิ่ม

งูสวัด เป็นการติดเชื้อไวรัส ชื่อ Varicella zoster virus ซึ่งมักพบว่าเป็นอาการหลังจากผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคอีสุกอีใสมาก่อนแล้ว
– เชื้อไวรัสนี้ ไม่หายขาด และซ่อนตัวอยู่ที่ปมประสาทไขสันหลัง( sensory gangion of nerve fiber) เมื่อภูมิต้านทานร่างกายลดลง เช่น พักผ่อนน้อย เครียด จะเกิดการกำเริบของเชื้อไวรัส แพร่กระจายมาตามบริเวณที่ร่างกายที่เส้นประสาทนั้นควบคุมอยู่
ถ้าเป็นรอบวง จะทำให้เสียชีวิตจริงหรือไม่
งูสงัด เป็นรอยตุ่มน้ำใส ตามร่างกายและเป็นแนวเดียวกับที่เส้นประสาทนั้นควบคุมอยู่ ซึ่งแนวเส้นประสาท ไม่สามารถจะพันรอบตัวเป็นวงกลม ดังนั้นโอกาสเกิดแบบนี้ แทบไม่มีเลย

อาการที่เกิดขึ้น แบ่งได้ดังนี้

  1. ระยะเตือน ( Prodromal phase) เป็นช่วงที่มีการอักเสบของเส้นประสาท แต่ยังไม่มีตุ่มน้ำ มักมีอาการปวดแสบร้อน ตามเส้นประสาท คล้ายไฟช็อต ปวดแปล๊บๆ เป็นพักๆ หรือ ปวดตลอดเวลา มักเป็นอยู่ 1-3 วัน ก่อนมีตุ่มน้ำ
  2. ระยะเฉียบพลัน( Acute phase) เกิดตุ่มน้ำใสอยู่กันเป็นกลุ่ม( ดังภาพ) ฐานของตุ่มเป็นสีแดงจากการอักเสบ มักอยู่เป็นกลุ่มๆ เรียงต่อเป็นแนวยาว ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นตุ่มหนอง และจะตกสะเก็ดภายใน 2 สับดาห์ มักไม่เกิดแผลเป็น ยกเว้นจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ตำแหน่งที่พบส่วนใหญ่อยู่บริเวณ ทรวงอก หลัง แต่บริเวณที่อันตรายเมื่อเกิดการติดเชื้องูสวัด คือบริเวณใบหน้า หน้าผาก และหนังศีรษะส่วนบน เพราะอาจลุกลามเข้าตา และเกิดรอยโรค กระจกตาอักเสบ ม่านตาอักเสบ ถ้ารักษาไม่ทันท่วงที อาจทำให้ตาบอดถาวรได้
  3. ระยะเรื้อรัง( Chronic phase) แม้รอยตุ่มน้ำจะหายแล้ว ในบางคน อาจยังมีอาการปวดแปล็บๆ คล้ายไฟช็อดเป็นพักๆ ได้ ที่เรียกว่า post herpetic neuralgia ได้เป็นเวลานาน ก่อให้เกิดความรำคาญอย่างยิ่ง

แนวทางการรักษา 

  1. มักหายได้เอง ยกเว้นมีภาวะแทรกซ้อน หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจต้องให้ยาทา หรือยารับประทานช่วยเสริม
  2. อาจมีอาการปวดเหมือนตามร่างกาย หรือมีไข้ได้ อาจให้รับประทานยา paracetamol วันละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมงก็ได้
  3. ยาทา Acyclovir จะช่วยบรรเทาอาการปวดแสบร้อน ได้บ้าง และช่วยลดความรุนแรง และย่นระยะการหายของโรคให้เร็วขึ้น
  4. ยาทา สมุนไพรพญายอ หรือเสลดพังพอน ได้มีคณะวิจัยจากกรมการแพทย์ รพ.บางรัก และรพ.ตากสิน ได้นำมาทำการทดลองใช้รักษาคนไข้ที่เป็นโรคเริมที่อวัยวะเพศ จำนวน 77 ราย จนได้ข้อสรุปว่า ครีมที่ผสมด้วยสมุนไพรพญาลอ มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคเริม และงูสวัด ไม่แตกต่างจากยา Acyclovir และดีกว่าตรงที่ เมื่อทาตรงแผลแล้วจะรู้สึกเย็น ในขณะที่ acyclovir cream ทาแล้วจะรู้สึกแสบ
  5. ยารับประทาน Acyclovir มักจะต้องใช้ กรณีที่มีอาการมาก ตุ่มน้ำรุนแรง และปวดแสบร้อนมาก ควรรับประทาน ครั้งละ 800 มก.วันละ 5 ครั้ง นาน 5-7 วัน แต่ค่ายาค่อนข้างแพง ( ราคาทุนประมาณ 1,000+ บาท) ดังนั้นถ้าไปพบแพทย์แล้วต้องรับประทานยา คงต้องเตรียมสตางค ์ประมาณ 2 พันบาทนะครับ ค่าต้นทุนยาเค้าแพงอยู่แล้ว
  6. กรณีที่มีอาการปวดตามเส้นประสาท หลังตุ่มน้ำหายแล้ว ยังไม่มียาตัวใดที่รักษาให้หายขาดได้แน่นอน แต่มีการทดลองใช้ยาหลายกลุ่ม เช่นยาทางจิตเวช คือ Tregital แต่ก็ยังไม่ได้ช่วยลดอาการได้มากนัก
  7. ไม่แนะนำให้แกะ หรือ เกาตุ่มน้ำ เพราะอาจติดเชื้อแทรกซ้อน เกิดอักเสบ เป็นแผลเป็นภายหลังได้
วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดคืออะไร?

              จากการศึกษาพบว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ร้อยละ 69.8 และยังสามารถป้องกันการเกิดอาการแทรกซ้อนคือ อาการปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัดได้ถึงร้อยละ 66.5 โดยทั่วไปจะฉีดเข้าใต้ผิวหนังเพียงเข็มเดียว ข้อมูลจากการศึกษาพบว่าภูมิคุ้มกันโรคจะอยู่ได้นานถึง 10 ปี และในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดกระตุ้นของวัคซีนนี้ โดยภูมิคุ้มกันจะขึ้นเต็มที่หลังฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 4 สัปดาห์
วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดเหมาะกับใคร ?
    ทุกคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปและโดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สามารถรับวัคซีนนี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีประวัติการเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน เนื่องด้วยอายุที่มากขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคงูสวัดและอาการแทรกซ้อนจากโรคงูสวัด

Posted on

โรคเกลื้อน (Tinea vesicolor) : ด่างขาว บนใบหน้า หรือ ตามลำตัว จากเชื้อรา การป้องกันและรักษา

เกลื้อน( Piryriasis vesicolor or Tinea vesicolor) เป็นภาวะการติดเชื้อราที่ชั้นนอกสุดของผิวหนัง คือ Stratum corneum โดยที่ผู้ป่วยไม่ค่อยมีอาการและมักเป็นเรื้อรัง โดยเชื้อราที่พบ คือ Malassezia furfur ( Pityrosporum ovale)
ปกติเชื้อราประเภทนี้ พบได้ทั่วไปตามรูขุมขนของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก บริเวณ หน้าอก หลัง ไหล่ ต้นคอ ใบหน้า บางครั้งอาจพบที่รักแร้ หรือ โคนขาได้
ปัจจัยที่ชักนำให้เกิดโรคเกลื้อน ซึ่งจะทำให้เชื้อรากลุ่มนี้เจริญเติบโตจากเชื้อยีสต์ เป็นสายหรือเป็นแท่งที่เรียกว่า hyphae ซึ่งทำให้เกิดโรคเกลื้อน ได้แก่
1. ภาวะผิวมัน
2. ภาวะเหงื่อออกมาก
3. ใส่เสื้อผ้าอับชื้นหรืออับเหงื่อเป็นเวลานานๆ
4. ภาวะอากาศมีความชื้นสูง เช่น ในหน้าร้อน หรือหน้าฝน
5. การรับประทานยาหรือทายากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง
6. ภาวะทุพโภชนาการ ขาดอาหาร

พบบ่อยแค่ไหน สังเกตอย่างไร
โรคเกลื้อน พบได้บ่อยในวัยหนุ่มสาว ทั้งเพศชายและหญิง แต่ก็อาจพบในทารกจนถึงวัยสูงอายุได้ โดยอาการทางคลินิก จะมีลักษณะเป็นดวงเล็กๆ สีน้ำตาล สีขาว หรือ แดง มีขอบเขตชัดเจน ผิวมีขุยละเอียด ต่อมาอาจจะเป็นปื้นขนาดใหญ่ มีรูปร่างเป็นวงกลมๆ หลายวง หรือรูปร่างไม่แน่นอน อาจคัน หรือไม่คันก็ได้
รอยด่างขาวที่หน้า ส่วนใหญ่เป็นเกลื้อนหรือไม่
เกลื้อน มักไม่ค่อยพบที่ใบหน้า เนื่องจากว่า คนส่วนใหญ่ล้างหน้าบ่อยๆ และซับให้แห้ง ถ้าพบรอยด่างที่ใบหน้า ให้นึกถึงอย่างอื่นก่อน เช่น โรครอยด่างจากแดด หรือเกลื้อนแดด หรือ เกลื้อนน้ำนม( P. alba) หรือ โรคด่างขาว( vitilligo) มากกว่าจะเป็นโรคเกลื้อน
วินิจฉัยโรคเกลื้อนอย่างไร
ถ้าจะยืนยันการเป็นเกลื้อนจริงหรือไม่ ควรขูดเอาขุยบริเวณรอยโรค ไปส่องกล้องจุลทรรศน์ ด้วยน้ำยา KOH จะพบลักษณะยีสต์เซลล์ รูปร่างกลมหรือรี หรือสายใยเป็นท่อนๆ ( fragmented hyphae) ของเชื้อราชัดเจน

รักษาอย่างไร
1. หลีกเลี่ยงภาวะหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเกลื้อนดังกล่าวข้างต้น เช่น ภาวะเหงื่อออก การอับชื้น
2. การใช้ครีมทาภายนอก ฆ่าเชื้อรา ได้แก่
2.1 กลุ่ม Imidazole derivatives เช่น Tonaf,Canesten cream,Cotrimazole ทาบริเวณที่เป็น ครีมจะใช้ได้ผลดีกรณีที่เป็นไม่มาก แต่ราคาค่อนข้างแพง
2.2 Selenium sulfide หรือ Selsun ใช้ฟอกตัว ถ้าเป็นมาก โดยทาทิ้งไว้ประมาณ 15-30 นาทีแล้วล้างออก โดยทาทั่วตัวประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ควรระวังอาจเกิดอาการระคายเคือง หรือแสบได้ ถ้าทิ้งไว้นานเกินไป และควรป้องกันการเกิดซ้ำ โดยทายาเดือนละ 1 ครั้ง
2.3 กลุ่มยาลอกขุย( Keratolytic agents) ได้แก่ Whitfield’s ointment,ขี้ผึ้งเบอร์ 28 โดยจะทำให้ผิวหนังลอกออก แล้วเชื้อราหลุดออกไป มีข้อดีคือ ราคาถูก แต่ก็ทำให้เกิดรอยคล้ำดำ จากการอักเสบได้ ( Post-inflammatory hyperpigmentation)
3. ยารับประทานฆ่าเชื้อรา มักใช้ใน กรณีที่เป็นมาก หรือ มีบริเวณกว้าง การทาครีมอาจจะไม่ทั่วถึง เช่น ภาวะโรคเกลื้อนทั่วไปที่หลัง และลำตัว
3.1 ยาฆ่าเชื้อรากลุ่ม Ketoconazole (Nizoral) 200 มก. วันละ 1 เม็ด เป็นเวลา 10-14 วัน และป้องกันการเกิดซ้ำ ด้วยการรับประทานยา เดือนละ 1 ครั้งในขนาด 400 มก. หรือ 200 มก.ติดต่อกัน 3 วันต่อเดือน
3.2 ยาฆ่าเชื้อรากลุ่ม Itraconazole (Spiral=100 Mg./แคบซูล) การรักษาแนะนำให้รับประทาน ขนาด 200 มก.ต่อวัน เป็นเวลานาน 5 วัน
3.3 ยาฆ่าเชื้อรากลุ่ม Griseofulvin (Fulvin) ,Terbinafine (Lamisil) ได้ผลไม่ค่อยดีนักในการรักษาโรคเกลื้อน

Posted on

Laser Resurfacing : เลเซอร์ลอกหน้า ผลัดผิว ให้เรียบเนียน ลดริ้วรอย ฝ้า กระ รอยหลุม

Laser Resurfacing คืออะไร

คือ การลอกผิว หรือผลัดผิวหนังด้วยเลเซอร์ แบ่งตามระดับความลึกของการลอกได้ 3 ระดับ คือ
1. Ablative laser resurfacing.: แบบนี้จะลอกได้ลึกสุด ลอกผิวหนังชั้นนอนกออกหมด ได้ผลสุด แต่ผลข้างเคียงก็มากสุด เลเซอร์ที่ใช้ก็คือ CO2 Laser 10,600 nm มักนิยมทำในคนผิวขาว ส่วนเอเซียไม่ค่อยนิยม เพราะระยะพักฟื้นนาน เป็น 1-2 เดือน หลังทำอาจจะมีเลือดซึม และอาจจะทำให้เกิดรอยดำถาวรได้
2. Semi-Ablative laser resurfacing.: เลเซอร์ชนิดนี้ จะลอกในผิวหนังชั้นนอกบางส่วน ระยะพักฟื้นน้อยกว่า 1-2 อาทิตย์ ได้ผลรองลงมา ที่นิยมใช้มีอยู่ 2 ตัว คือ Erbium Laser 2940 nm. กับ Fractional CO2 Laser 10,600 nm
3. Non-Ablative laser resurfacing.: เลเซอร์ชนิดนี้ จะลอกในผิวหนังชั้นกำพร้า หรือแทบไม่ลอก ระยะพักฟื้น 1-3 วัน ได้ผลน้อย แต่ผลข้างเคียงก็น้อย ที่นิยมใช้มีอยู่ 2 ตัว คือ Erbium Glass laser Laser 1550 nm. ( Fraxel,Finescan )

การกรอผิวหน้าด้วยเลเซอร์ ได้ผลดีกว่าวิธีอื่นอย่างไร

การกรอผิวหน้าด้วยเลเซอร์ จะได้ความแม่นยำในการลอกหน้า ความลึก และบริเวณที่ถูกต้อง แม่นยำกว่าการลอกด้วยสารเคมี หรือการกรอผิวด้วยเกล็ดอัญมณี และยิ่งแพทย์ที่ทำมีความชำนาญ มีประสบการณ์ จะได้ผลลัพธ์ที่ดี และผลข้างเคียงน้อยสุด โดยเชื่อว่าจะช่วยให้ผิวหนังมีคุณภาพดีขึ้น ดังนี้

1. ความร้อนจากเลเซอร์ ทำให้มีการลอกผิวหนังชั้นกำพร้าและส่วนบนของหนังแท้ใหม้หลุดออกไป จึงทำให้รอยย่น รอยหลุม บนใบหน้าลดลง (แม้จะไม่หมดก็ตาม)
2. ความร้อนจากเลเซอร์ทำให้เกิดจากหดตัวของ collagen fiber ทำให้ผิวหน้าเต่งตึงขึ้น ริ้วรอยจึงดูจางลง ซึ่งได้ผลดีในบริเวณรอบดวงตา และริมฝีปาก
3. ความร้อนจากเลเซอร์ ทำให้กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนขึ้นมาใหม่ได้อย่างช้าๆ ในเวลา 6-12 เดือน จึงทำให้รูขุมขน รอยหลุมดูตื้นและเล็กลงได้

ช่วยเรื่องอะไรได้บ้าง

1. ริ้วรอยย่น แบบ Static wrinkle คือรอยย่น ที่ฉีดโบทอกซ์แล้วยังมีร่องรอยเหลืออยู่ หรือบริเวณที่ไม่สามารถฉีดโบทอกซ์ได้
2. รอยหลุมสิว ทุกชนิด
3. รูขุมขนกว้าง
4. ฝ้า กระ ชนิดตื้น
5. ภาวะชราของผิวพรรณ เช่น กระเนื้อ กระแดด กระในคนสูงอายุ
6. รอยสักบางชนิด ที่เลเซอร์ลบรอยสัก กำจัดได้ไม่หมด

ผลข้างเคียง ของกรอผิวหน้าด้วยเลเซอร์

1. อาจมีอาการ หน้าบวมแดง หลังทำ นานมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับชนิดของเลเซอร์ที่ทำ
2. ภาวะอักเสบ น้ำเหลืองไหล มักจะเกิดจากการลอกผิว แบบ Ablative laser resurfacing
4. ภาวะการติดเชื้อแบคทีเรีย แทรกซ้อนได้ มีน้ำหนอง ซึ่ง มักเกิดได้จากมักจะเกิดจากการลอกผิว แบบ Ablative laser resurfacing
5. รอยดำจากความร้อนของเลเซอร์ อาจจะ เกิดได้นานในคนเอเซีย ถ้าลอกลึกเกินไป
7. รอยแผลเป็น มักเกิดได้จากมักจะเกิดจากการลอกผิว แบบ Ablative laser resurfacing
8. การกรอผิวด้วยเลเซอร์รอบดวงตา ถ้าทำหลายครั้งหรือใช้พลังงานมากเกินไป อาจเกิดการดึงรั้งหนังตา ทำให้เกิดภาวะหลับตาไม่ได้( ectropion) มักเกิดได้จากมักจะเกิดจากการลอกผิว แบบ Ablative laser resurfacing

fractional CO2-Laser resurfacing
fractional Co 2 laser resurfacing
Posted on

Food of Hair : สุขภาพผมที่ดี มีลักษณะอย่างไร อาหารแบบไหน ทำให้เส้นผมแข็งแรง

สุขภาพเส้นผมดี อยู่อย่างไร

สุขภาพของเส้นผมที่ดี ควรมีลักษณะที่สำคัญ 3 ประการดังนี้

  1. ความพรุน (Porosity) เส้นผมที่ดีและแข็งแรง จะต้องมีลักษณะเกร็ดผม (cuticle) ที่ราบเรียบปิดสนิท ทำให้น้ำและสารอื่นๆ ซึ่งเข้าสู่แกนผม(hait shaft)ได้ยาก
  2. ความยืดหยุ่นและแข็งแรง (Elasticity and Strengh) โดยสุขภาพผมที่ดี ควรจะสามารถยืดได้ประมาณ 1 ใน 3 ของความยาวปกติ และหดกลับได้ตามปกติ และสามารถรองรับน้ำหนักได้ถึง 100 กรัมโดยไม่ขาด โดยต้องมีแกนใน(cortex) ที่แข็งแรง ซึ่งปกป้องด้วยเกร็ดผม(cutilce) อีกทีหนึ่ง
  3. เนื้อสัมผัส (Texture) ขึ้นอยู่กับขนาดของเส้นผม และความหยาบหรือความอ่อนนุ่ม โดยผมที่มีขนาดใหญ่และอ่อนนุ่ม จะเป็นผมที่มีสุขภาพที่ดี

ส่วนประกอบทางเคมีวิทยาและโครงสร้างของเส้นผม

  1. โปรตีน: พบได้ร้อยละ 65-95 ของน้ำหนักผม ในรูปของเคอราติน
  2. ไขมัน: พบได้น้อยกว่า ร้อยละ 5 ส่วนใหญ่ไขมันบนเส้นผม จะเป็นลักษณะไขมันเหลว(sebum) ที่ประกอบด้วย free fatty acid,neutral fat ester,glyceryl,wax และ saturated hydrocarbon ( ขออภัยไม่มีคำแปลเป็นไทยที่เหมาะสมนะครับ)
  3. น้ำ: มักมีปริมาณในเส้นผมไม่แน่นอน โดยผมแห้งจะดูดซึมน้ำได้ดีกว่าผมมัน
  4. แร่ธาตุ หรือสารเคมีต่างๆ (Trace elements): ซึ่งบางส่วนอาจจะมาจากภายในเส้นผม หรือร่างกายเอง และบางส่วนมาจากภายนอก เช่น จากผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม เช่น แชมพู ครีมนวดผม ยาย้อมสีผม โลชั่นบำรุงเส้นผม หรือจากมลภาวะ ที่พบบ่อยๆได้แก่กลุ่ม carbon 45.2%,hydrogen 6.6%,oxygen 27.9%,nitrogen 45.2%,sulfur 5.2%

อาหารที่ดีต่อเส้นผม

กลุ่มอาหารที่อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อเส้นผม ได้แก่

  1. สังกะสี: ได้แก่ อาหารกลุ่ม สัตว์ปีก ถั่วทุกชนิด น้ำมันพืชจากธรรมชาติ น้ำมันงา จมูกข้าวสาลี
  2. วิตามินบี: ได้แก่ ผักใบเขียว ตับ ธัญพืชต่างๆ ปลา และไข่
  3. วิตามินเอ: ได้แก่ มะเขือเทศ แครอท ผักโขม ตับ บรอกโคลี่ มันฝรั่งชนิดหวาน หัวไขเท้า มะละกอ แคนตาลูป
  4. วิตามินซี: ได้แก่ กลุ่มผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม องุ่น แตงโม สตรอเบอรี่ ผักสีเขียว
  5. ทองแดง: ได้แก่ ตับ ถั่วเมล็ดแห้ง หอยนางรม อาหารทะเล ลูกพรุน ธัญพืช
  6. ธาตุเหล็ก: ได้แก่ ตับ ไข่แดง ข้าวโอ๊ต ผลไม้แห้ง เช่นลูกพีช ลูกเกด เนื้อแดง
  7. ธาตุไอโอดีน: ได้แก่ สาหร่าย อาหารทะเล หอมหัวใหญ่
  8. ธาตุซัลเฟอร์: ได้แก่ หัวหอม กระเทียม หัวผักกาด และหน่อไม้ฝรั่ง
    ควรที่ได้รับประทานอาหารให้สมดุล ในจำนวนที่เหมาะสม โดยเน้นการรับประทานอาหารมื้อเช้า เป็นมื้อที่สำคัญ เพราะร่างกายจะได้ใช้ได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือว่าเป็นการรับประทานที่ถูกสุขลักษณะ โดยมื้อเย็นให้รับประทานแต่น้อยๆ เพราะร่างกายกำลังจะพักผ่อน ไม่ต้องการพลังงานมากนัก และที่สำคัญควรรับประทานให้ครบหมู่ทั้งโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต สังกะสี และวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ

    อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
  1. อาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอด ไขมันสัตว์ นมสด เพราะจะไปเพิ่มอนุมูลอิสระจากปฏิกริยาออกซิเดชั่น ทำให้เกิดการอักเสบต่อผิวพรรณ เส้นผมได้
  2. อาหารที่มีคารโบไฮเดรตสูง เช่น แป้งและน้ำตาล
  3. งดคาเฟอีน ในบุหรี่ กาแฟ
  4. งดดื่มอัลกอฮอล์ทุกชนิด
  5. หลีกเลี่ยงภาวะเครียดทุกกรณี
Posted on

Anorexia nervosa : โรคกลัวอ้วน เป็นความผิดปกติในการกิน ที่ไม่ควรมองข้าม

โรคกลัวอ้วน ( Anorexia nervosa) คืออะไร

โรคกลัวอ้วน ( Anorexia nervosa) เป็นโรคการผิดปกติในการกิน ที่เริ่มขึ้นในวัยรุ่นหนุ่มสาว โดยผู้ป่วยพยายามลดน้ำหนักตนเองอย่างมาก และมีอาการกลัวอ้วนทั้งๆ ที่ตนเองผอมแห้งอย่างมาก
พบได้ร้อยละ 95 ชองเพศหญิง มักพบช่วงอายุวัยรุ่นตอนต้นหรือช่วงปลาย ในอัตรา 1:100-1:800 พบบ่อยในประเทศตะวันตก แต่ในประเทศไทย พบได้บ้างประปราย
เกณฑ์การตัดสินว่าเป็นโรคนี้ มีดังนี้
1. น้ำหนักตัวลดลงเกิน ร้อยละ 15 ของน้ำหนักตัวมาตรฐาน โดยคำนวนจากค่า BMI ( body mass index) หรือค่าดัชนีความหนาของร่างกาย ซึ่งมีการคำนวณอย่างไร ได้เขียนบทความนี้ให้แล้ว ( ลองไปคลิกค้นหน้าดูนะครับ)
2. มีความวิตกกังวล กลัวอ้วนอย่างมาก ทั้งๆ ที่ตนเองผอมมาก
3. มีความผิดปกติในการมองตนเองว่าอ้วน หรือคิดว่าบางส่วนของร่างกายมีไขมันมากเกินไป
4. ในเพศหญิงมีการขาดประจำเดือน เกิน 3 รอบติดต่อกัน
สาเหตุของโรคกลัวอ้วน มีปัจจัยหลายอย่างดังนี้ 
1. ปัจจัยเกี่ยวกับผู้ป่วยเอง- มักมีบุคลิกภาพที่เป็นแบบ ดีเลิศ(Perfectionist) เป็นเด็กตัวอย่างของครอบครัว ย้ำคิดย้ำทำ แต่ขาดทักษะในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น
2. ปัจจัยเกี่ยวกับครอบครัว- มักถูกเลี้ยงดูแบบใกล้ชิด หรือปกป้องมากเกินไป ไม่ปล่อยให้เป็นตัวของตัวเอง บิดามารดามีความขัดแย้งกันบ่อยๆ และนำเด็กเข้าไปเกี่ยวด้วย
3. ปัจจัยทางสังคม- ค่านิยมของสังคมบางแห่ง ถือว่าผู้หญิงที่ผอมบางมีคุณค่า แต่ในขณะที่ผู้หญิงอ้วนเป็นคนที่ไม่รู้จักดูแลตนเอง

Anorexia nervosa
Anorexia nervosa

ลักษณะอาการที่พบ: -มักเริ่มต้นด้วยการพยายามลดน้ำหนัก ไม่ยอมกินอาหาร แต่พอน้ำหนักเริ่มลดลง ก็ยังไม่ยอมหยุดอดอาหาร ทำให้น้ำหนักลดลงเรื่อยๆ พร้อมกับการพยายามออกกำลังกายมาก แต่บางคนก็ยังอยากกินอาหารเป็นพักๆ หรือบางคนไม่ยอมกินอะไรเลย แม้แต่อาหารแคลอรี่ต่ำ มีการพยายามชั่งน้ำหนักวันละหลายๆ ครั้ง ประจำเดือนขาด
การเปลี่ยนแปลงของร่างกายในผู้ป่วยโรคกลัวอ้วน 
1. ผิวหนังจะมีลักษณะแห้ง หยาบ ลอก มีขนเล็กๆ( lanugo) ขึ้นตามตัว แขน ขา ใบหน้า
2. มักบ่นว่าหนาวง่าย มีอุณหภูมิร่างกายต่ำ
3. อัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาที
4. มีความผิดปกติในระบบการย่อยอาหาร และการขับถ่าย
5. เวียนศีรษะเป็นลมได้ง่าย
6. ถ้ารุนแรง อาจถึงแก่ชีวิตได้
แนวทางการรักษา 
1. ต้องประเมินภาวะความสมบูรณ์ของร่างกาย
2. ดูภาวะทุพพลโภชนาการระดับใด
3. มักให้นอนรพ. เพื่อฟื้นฟูสภาพทางกาย และทางจิตใจ เพราะการรักษาด้วยยาอย่างเดียวได้ผลไม่ดีนัก ต้องควบคู่กับการรักษาจิตบำบัด
ดังนั้นสาวเจ้าทั้งหลาย การลดน้ำหนักแต่พอควรให้อยู่ในระดับมาตรฐาน ก็น่าจะเพียงพอแล้ว เพราะมีตัวอย่าง ดาราฮอลลีวู้ดหลายนาง ได้เสียชีวิตด้วยโรคกลัวอ้วนมาแล้วนะครับ