Posted on

ไฟเบอร์สกัดจากเมล็ดแมงลัก( Psylium ) ช่วยควบคุมน้ำหนัก ได้อย่างไร เหมาะกับใคร

เมล็ดแมงลัก( Psylium ) กับการลดน้ำหนัก

แมงลัก ( Psylium ) เป็นพืชล้มลุกที่จัดอยู่ในตระกูล Plantaginaceae ที่มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Plantago psyllium โดยพบว่าเมล็ดของต้นแมงลัก จะมีเยื่อหุ้มเมล็ด ( Husk) ซึ่งจะให้ใยอาหารหรือไฟเบอร์ ที่มีคุณสมบัติดูดซับน้ำได้ถึง 25 เท่าของน้ำหนักตัวเอง และเมื่อดูดซับน้ำไว้แล้ว ไฟเบอร์จากเมล็ดแมงลัก ก็จะมีลักษณะเป็นเยื่อเมือกลื่นที่เรียกว่า Mucillage และส่วนนี้เองที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และโภชนาการอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

ในทางโภชนาการเราสามารถจำแนกชนิดของเส้นใยอาหารหรือไฟเบอร์ อย่างง่ายๆ ตามลักษณะของการละลายน้ำได้ 2 ชนิด คือ

  1. ไฟเบอร์ที่ละลายน้ำได้ ( Soluble fiber )  ซึ่งเมื่อไฟเบอร์นี้ละลายน้ำ จะมีลักษณะเป็นเจลขึ้น ซึ่งจะเกาะติดกับโมเลกุลของไขมัน จากอาหารที่รับประทานเข้าไปได้เป็นอย่างดี ทำให้ป้องกันการดูดซึมไขมันเข้าสู่กระแสเลือด และไฟเบอร์ชนิดนี้ก็จะนำพาสารอาหารที่ติดอยู่ขับออกไปทางอุจจาระ
    สรรพคุณ
    – ลดระดับไขมันและน้ำตาลในคนไข้ที่มีปัญหาได้ดี
    – ทำให้น้ำหนักตัวค่อยๆ ลดลงอย่างปลอดภัย
  2. ไฟเบอร์ที่ไม่ละลายน้ำได้ ( Insoluble fiber ) ไฟเบอร์ชนิดนี้จะมีการทำงานคล้ายๆ ฟองน้ำ ( sponge) โดยจะทำการดูดน้ำไว้กับตัวเองทำให้พองตัว
    สรรพคุณ
    – ถ้าหากรับประทานไฟเบอร์ชนิดนี้เข้าไป จึงทำให้อิ่มไวขึ้น ก็ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง
    – ทำให้เร่งให้อุจจาระเคลื่อนที่ผ่านไปลำไส้ใหญ่ได้เร็วขึ้น จึงป้องกันปัญหาการดูดซึมสารอาหารเข้าร่างกาย และทำให้ลดและป้องกันภาวะท้องผูก
    เหมาะกับใคร
    – เหมาะกับการควบคุมน้ำหนัก
    – ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะการพองตัวของเม็ดแมงลักทำให้ร่างกายดูดซึมอาหารได้ช้าลง นั้นหมายความว่าร่างกายจะดูดซึมน้ำตาลได้น้อยลงด้วย
    – ผู้ป่วยไขมันในเลือดสูง เพราะเม็ดแมงลักจะช่วยขับคอเลสเตอรอลไม่ดีออกจากร่างกาย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้ด้วย
Posted on

เกลื้อนแดด หรือ กลากน้ำนม (Pityriasis alba) : รอยด่างขาวบนใบหน้า ที่ไม่ใช่เชื้อรา

ในเด็ก หรือ วัยรุ่นบางคน โดยเฉพาะผู้หญิง จะพบว่า บริเวณใบหน้า โดยเฉพาะที่แก้ม อาจพบรอยด่างๆ เป็นวงๆ รูปไข่ หรือวงกลม อาจมีสีชมพูจางๆ หรือสีผิวซีดกว่าบริเวณข้างเคียง ทำให้ผิวหน้าเกิดรอยด่างเป็นดวงๆ ทั้งๆ ที่เป็นคนสะอาด คล้ายโรคเกลื้อน ทำให้บางคนเรียกรอยด่างนี้ว่า เกลื้อนแดด( P.alba)

มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูร้อน หรือในภาวะแดดจัด พบมากในคนแถบเอเซีย สาเหตุที่แน่ชัดไม่ทราบ แต่คาดว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของผิวหนังอักเสบ โดยเกิดจากเซลล์เมลานิน ไม่สร้างเม็ดสีผิว ในบริเวณดังกล่าว เมื่อเทียบกับบริเวณข้างเคียงที่ตอบสนองต่อแสงแดด เพราะในภาวะปกติ ถ้าโดนแดดบ่อยๆ สีผิวจะคล้ำขึ้น แต่บริเวณรอยด่าง เซลล์ไม่ตอบสนองต่อแสงอุตราไวโอเลต หรือ ตอบสนองไม่เท่ากัน จึงเกิดสีผิวที่แตกต่างกันขึ้น

บางครั้งต้องแยกจาก การติดเชื้อราเกลื้อน แต่มักแตกต่างคือ เกลื้อนมักมีขอบเขตชัด และถ้าขูดบริเวณรอยโรค ไปส่องกล้องจุลทรรศน์จะพบสายพันธุ์ของเชื้อรา แต่รอยด่าง P.alba จะไม่พบเชื้อราดังกล่าว บางคนจึงเรียกว่า เกลื้อนแดด

บางครั้ง ต้องแยกจาก ผื่นแพ้ Atopic dermatitis ซึ่งพบได้บ่อยในเด็ก เพราะฉะนั้นถ้าสงสัย อาจต้องพบแพทย์ผิวหนัง

แนวทางการรักษา 

1. โรคนี้ไม่จำเป็นต้องรักษา มักหายได้เอง เมื่ออายุมากขึ้น
2. อาจใช้ครีมกันแดด ก่อนโดนแดด เพื่อมิให้รอยด่างชัดขึ้น
3. การใช้ครีมทา Steroids บริเวณรอยด่าง จะทำให้การอักเสบของเซลล์ดีขึ้น และหายเป็นปกติ
4. ถ้ามีอาการผิวแห้งแตกร่วมด้วย อาจต้องทาครีมบำรุง เพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้นขึ้น


Posted on

คีลอยด์ (Keloids) แตกต่างจาก แผลเป็นนูน (Hypertrophic Scar) อยากหาย รักษาอย่างไร ให้ผิวกลับมาปกติ

คีลอยด์ (Keloids) คืออะไร

คีลอยด์ คือ แผลเป็นชนิดหนึ่งที่มีลักษณะนูนและค่อนข้างแข็ง มีสีคล้ายสีของผิวหนัง หรืออาจสีคล้ำ หรือ แดง แม้จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แต่ก็ส่งผลด้านความสวยความงาม ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ เหมือนผิวพรรณมีตำหนิ คีลอยด์ส่วนใหญ๋ไม่มีอาการอะไร แต่บางครั้งอาจจะคัน ระคายเคือง หรือเจ็บ
สาเหตุของคีลอยด์ : เกิดจากการเรียงตัวผิดปกติ ของแผลที่หายแล้ว โดยเนื้อเยื่อและคอลลาเจนที่ซ่อมแซมบริเวณดังกล่าว เกิดการทำงานมากกว่าปกติ โดยอาจเกิดขึ้นทันทีที่แผลหายหรือหลังจากแผลหายดีสักพัก
ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ อกด้านบน ใบหู คาง ไหล่ คอ หลัง ท้อง และขา
ความแตกต่างของคีลอยด์ (Keloids) กับแผลเป็นนูน (Hypertrophic Scar)
1. Keloids เป็นแผลนูนหนาที่เกิดเลยขอบเขตของแผลเดิม และ Hypertrophic Scar คือรอยแผลนูนหนาที่เกิดเฉพาะบริเวณแผลเดิม ไม่โตมากกว่าขอบเขตของแผลเดิม
2. Keloids มักไม่ค่อยหายขาด และอาจมีการอักเสบเป็นหนอง หรือ โตเพิ่มขึ้น ทั้งๆที่ ไม่ได้ถูกกระทบกระเทือน ส่วน Hypertrophic Scar หายขาดได้ อาจจะค่อยๆ ราบเหลือเป็นรอยสีขาวๆ และราบหายไป ภายใน 6-24 เดือน

Keloid ที่หัวไหล่ vs Hypertrohic scar ที่ท้อง

การป้องกันและรักษา

การป้องกันการเกิดคีลอยด์ ในคนที่มีประวัติ Keloids มาก่อน และป้องกันไม่ให้มี Keloids ในตำแหน่งอื่นๆ ได้อีก ควรปฏิบัติตนดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการผ่าตัดในผู้ที่เคยมีรอยแผลเป็นนูนหนา เพราะแผลผ่าตัดใหม่อาจเกิดKeloids ใหม่และเป็นมากขึ้น
2. หลีกเลี่ยงการจี้ด้วยกระแสไฟฟ้า ในผู้ป่วยที่มีประวัติเคยเป็น Keloids
3. เมื่อเป็นสิว หรือ ต่อมเหงื่ออักเสบ ควรรีบพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อให้ยาปฏิชีวนะ หรือ Isotretinoin อย่างเต็มที่ เพราะถ้าปล่อยให้แผลหายเอง อาจเกิด keloids ได้
4. ไม่ควรเจาะหูเพื่อใส่ตุ้มหู ในคนประเภทนี้ ถ้าทำควรระมัดระวัง เรื่องความสะอาด การติดเชื้อ เพราะจะเกิดรอยแผลเป็นนูนหนาได้ง่าย

การรักษาแผลเป็นนูนหนา ( Keloid) 

1. การฉีดยาให้ยุบ เป้นที่นิยมและได้ผลดี ยาที่ใช้เป็นกลุ่ม Corticosteroids เช่น Kenacort ยาจะไปลดการสร้างคอลลาเจน และเนื้อเยื่อบริเวณคีลอยด์ ลดอาการอักเสบ ทำให้ลดขนาดลง ไม่โตขึ้น และมักใช้กรณีที่ keloids มีเจ็บปวด หรือขนาดใหญ่มาก ฉีดได้ทุก 2 อาทิตย์ อาจผสม ยาชาร่วมด้วย
2. การแต้มด้วย 50 % TCA มักใช้ในกรณีที่ Keloids เริ่มยุบตัวได้ดี และทำให้หลุดลอกออกเป็นผิวปกติ
3. การทำเลเซอร์ ลดรอยดำ หรือรอยแดง มักจะใช้ในกรณีที่ฉีดคีลอยด์ยุบดีแล้ว ต้องการปรับสีผิวให้กลับมาใกล้เคียงปกติ เลเซอร์ที่ใช้ ก็เช่น V-beam,Revlite,Finecan
4. การจี้ด้วยไอเย็นจากไนโตรเจนเหลว มักทำร่วมกับการฉีดคีลอยด์ด้วยยา Corticosteroid
5. การผ่าตัดแล้วเย็บปิด แต่ก็มีโอกาสกลับมาเป็นที่เดิมได้ 60 % มักป้องกันโดยฉีดยาให้ยุบก่อน ตรงแผลผ่าตัด และนัดมาฉีดยาซ้ำตามข้อ 1 แล้วนัดดูผลประมาณ 2 ปี
5. การตัดออกด้วยเลเซอร์( CO2 Laser) จะได้ผลดีเฉพาะคีลอยด์บริเวณใบหู ส่วนบริเวณอื่น ได้ผลไม่ดีนัก มักเป็นซ้ำและมากกว่าเดิม ประมาณ 55 %
6. การใช้ Silicone gel หรือ Plaster ที่ประกอบด้วย Polymethylsilicone polymer แปะบนผิวของคีลอยด์ พบว่าได้ผลดีเฉพาะในกรณีลดอาการคันและเจ็บ โดยแปะอย่างน้อย 12 ชม.ต่อวัน แต่การป้องกันและรักษา Keloids ยังไม่มีรายงานระบุชัดว่าได้ผลดี
7. ครีมรักษาแผลเป็นนูน : ได้แก่กลุ่มสารออกฤทธิ์ที่สำคัญสองชนิดคือ สารสกัดจากหัวหอมที่ชื่อว่า Cepalin และสาร Allantoin ส่วนใหญ่จะได้ผลดี ถ้าเกิดแผลใหม่ๆ

Posted on

ผิวแห้ง แตก คัน (Dry skin or Xerosis dermatitis) กลัวแก่ เกาจนเป็นแผล จะป้องกัน แก้ไขอย่างไร

ผิวหนังแห้ง เป็นปัญหาทางผิวหนังที่พบได้บ่อย มีลักษณะแห้งและมีขุย อันทำให้เกิดอาการคัน การเกา ซึ่งนำมาให้เกิดการเพิ่มการคัน อักเสบ และเป็นแผลในภายหลัง พบบ่อยบริเวณหน้าแข้ง หลังมือ แขน และผิวหนังทั่วร่างกาย ถ้าผิวหน้าแห้งบ่อยๆ อาจทำให้เกิดปัญหาฝ้า ริ้วรอยเหี่ยวย่น แก่ก่อนวัยอันควร ในรายที่เป็นมากๆ ชั้นผิวหนังด้านบนจะหดตัว แห้งแตกเป็นร่องได้
สาเหตุ มักเกิดจากการขาดน้ำในส่วนผิวหนังส่วนนอก ซึ่งอาจเกิดจากความชื้นของอากาศน้อย เช่นในหน้าหนาว หรืออยู่ในห้องปรับอากาศนานๆ การใช้สบู่ที่ชำระล้างไขมันบนผิวหนังมากเกินไป แต่บางครั้งอาจเกิดจากโรคภายในร่างกายได้อาทิ โรคทางต่อมทัยรอยด์ เป็นต้น
แนวทางในการวินิจฉัย เมื่อพบแแพทย์ ด้วยปัญหาทางผิวหน้งแห้งผิดปกติ เพื่อหาสาเหตุ
1.ต้องซักประวัติ แยกจากโรคภูมิแพ้ Atopic Dermatitis หรือโรคทางพันธุกรรมอย่างอื่น
2. ประวัติการเกิดโรค ประวัติครอบครัวเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้
3. การทำความสะอาดผิวหนัง เช่น ชนิดของสบู่ ความบ่อยในการอาบน้ำ เป็นต้น

การป้องกันและรักษาปัญหาผิวแห้ง หลักการก็คือ เพื่อป้องกันการเสียน้ำจากผิวหนังมากขึ้น และเพิ่มปริมาณน้ำที่เสียไปให้กับผิวหนัง ดังนี้

  1. การอาบน้ำ ไม่ควรอาบน้ำบ่อย น้ำที่อาบควรเป็นน้ำอุ่น ไม่ร้อนจัด อุณหภูมิ ประมาณ 34 องศาC
  2. ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ ให้พอดีรู้สึกสบาย
  3. เพิ่มความชื้นให้กับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้เครื่องเพิ่มความชื้น(Ultrasonic humidifiers)
  4. ทาครีมที่ลดการสูญเสียน้ำ อาทิ สารพวก Vaseline, Petrolatum ,Lanolin,Ceramide
  5. เพิ่มการดึงน้ำจากอากาศเข้าผิวหนัง โดยใช้ครีมที่มีส่วนผสมของ 20-45 % Propylene Glycol ,Glycerine ,Urea,Ceramide
  6. การทาครีมที่มีส่วนผสมของ AHAs จะช่วยลดความหนาของผิวหนัง ลดการตึงตัว ทำให้ผิวหนังนุ่มนวลขึ้นได้
  7. การใช้ครีมทาแก้แพ้ หรือแก้คัน ที่มีส่วนผสมของสารเสตียรอยด์ ควรทาเท่าที่จำเป็น เพราะมีผลข้างเคียงทำให้ผิวแห้งมากขึ้นได้ และ ไม่ควรเกา
  8. หลีกเลี่ยงการอบซาวน่า หรือ การขัดผิว
  9. เลือกสบู่ที่ไม่มีความเป็นกรด หรือ ด่างแรงๆ ควรใช้สบู่อ่อนๆ ที่มีสารเคลือบผิว
  10. ใช้ครีมบำรุงทาเป็นประจำ ซึ่งปัจจุบันมีหลายตัวที่ได้ผลดี เช่นกลุ่มผสมยูเรีย Ceramide,Aloe vera