โรคเรื้อน(Leprosy) คืออะไร
คือ โรคติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ Mycobacterium leprae( M.leprae) ที่ทำให้เกิดอาการทางผิวหนัง เยื่อบุจมูก และเส้นประสาทส่วนปลาย
พบบ่อยแค่ไหน จากรายงานของกองโรคเรื้อน เมื่อปี 2562 พบผู้ป่วย เพียง 269 ราย อัตราการชุกของโรคประมาณ 0.04 รายต่อประชากร 10,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ลดลงมาก เมื่อเทียบกับ 40-50 ปีก่อน
อาการเป็นอย่างไร
1.มีลักษณะผื่นระยะต่างๆ ที่เหมือนหรือคล้าย รอยโรคระยะต่างๆ
2..มีอาการชาที่บริเวณรอยโรค ตั้งแต่สูญเสียความรู้สึกสัมผัสเบาๆ จนถึงเสียความรู้สึกร้อนเย็น หรือความรู้สึกเจ็บ
3. มีเส้นประสาทที่โตกว่าปกติ
4. ขูดหรือกรีดบริเวณรอยโรค แล้วนำไปย้อมน้ำยา acid fast strain แล้วส่งด้วยกล้องจุลทรรศน์ แล้วพบเชื้อ M.laprae ติดสีแดง
แพทย์จะพิจารณาจากอาการแสดงข้างบน เพื่อการวินิจฉัย จะต้องมีอาการแสดงอย่างน้อย 2 ข้อใน 3 ข้อแรกข้างบน และ/หรือ ตรวจพบเชื้อโรคนี้จากกล้องจุลทรรศน์
ติดต่อทางไหน รักษาอย่างไร
การติดต่อ เดิมเชื่อว่าเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยโรคเรื้อน แต่ในปัจจุบัน และหลักฐานหลายอย่าง ทำให้เชื่อว่า การติดเชื้อ ได้โดยการหายใจ ซึ่งพบเชื้อโรคเรื้อนในอากาศ หรือชุมชนที่มีผู้ป่วยอาศัยอยู่ และมีระยะฟักตัว ตั้งแต่ 3-10 ปี ขึ้นกับชนิดของเชื้อโรคเรื้อน
ทำไมต้องกักตัว สิ่งที่ทำให้โรคเรื้อนเป็นที่รังเกียจของสังคม คือ ความพิการที่ตรวจพบ ซึ่งเกิดจากเชื้อโรคได้ทำลายเส้นประสาท ทำให้เสียหน้าที่ในการควบคุมกล้ามเนื้อ ทำให้อ่อนกำลัง หรือ ลีบ หรือหงิกงอ และระยะที่มีการเห่อ หรือโรครุนแรงขึ้น เช่น มีการกระจายของผื่นอย่างรวดเร็ว ผิวหนังเป็นมันและชุ่ม
แนวทางการรักษา ตั้งแต่ปี 2525 จนถึงปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ใช้การรักษาด้วยยาผสมหลายตัวในระยะเวลาสั้น เพื่อป้องกันภาวะพิการ ทำลายแหล่งและตัดวงจรการระบาดของโรค เรียกว่า MDT ( multi-drug therpy) ซึ่งจะใช้ตัวยาหลายตัวร่วมกัน เช่น Dapsone,Rifampicin,Clofazimine,Ethionamide ,Fluoroquinolone,Macrolides antibiotics ,Minocycline และอาจใช้ยากลุ่มเสตียรอยด์บ้าง ทั้งในรูปของการทา และรับประทาน กรณีที่โรคเห่อมาก หรือเส้นประสาทอักเสบ มีตุ่มอักเสบรุนแรง
ระยะเวลาในการรักษา ได้มีการกำหนดแน่นอน และเมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาครบถ้วนตามระยะเวลาที่กำหนด ให้หยุดยาได้เลย และได้แบ่งระยะเวลาในการรักษา ตามความรุนแรงดังนี้
1.ประเภทผู้ป่วยเชื้อน้อย ใช้เวลาในการรักษา 6 เดือน โดยรับยาประจำเดือนครบ 6 ครั้ง ในระยะเวลา 9 เดือน
2.ประเภทผู้ป่วยเชื้อมาก ใช้เวลาในการรักษา 24 เดือน โดยรับยาประจำเดือนครบ 24 ครั้ง ในระยะเวลา 36 เดือน
ผู้ป่วยโรคเรื้อน ควรต้องเข้าใจในภาวะและระยะของโรค ตลอดจนผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้ ทั้งจากการดำเนินของโรคเอง ผลข้างเคียงของยาที่ใช้ การรักษาแนะนำให้รักษาในรพ.ที่รักษาโรคนี้โดยเฉพาะ สถาบันโรคผิวหนัง หรือรพ.ของรัฐที่มีศักยภาพ เพราะจำนวนผู้ป่วยทั่วประเทศไทยไม่มากนัก ตามคลินิกผิวหนังและรพ.บางแห่ง อาจไม่มียาไว้ในคลังยา