ปานแดง คืออะไร
ปานแดง (Vascular Birthmarks) คือสีผิวที่เปลี่ยนไป ซึ่งเกิดจากลักษณะของหลอดเลือดที่ผิดปกติ มักปรากฏบนผิวหนังของเด็กแรกคลอด หรือปรากฏขึ้นหลังจากที่เด็กคลอดออกมาได้ไม่นาน มักมีสีชมพู ม่วง หรือแดง สามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิดหลักๆ ได้แก่
1. แซลมอน แพตช์ (Salmon Patch) หรือปานเส้นเลือดแดง (Stork Bites) คือปานที่มีสีออกแดงหรือชมพู มีลักษณะเรียบ พบได้ทั่วไป และพบได้บ่อยถึง 1 ใน 3 ของเด็กแรกเกิด มักปรากฏบริเวณท้ายทอย เปลือกตา หรือหน้าผากบริเวณหว่างคิ้ว
การรักษา ปานจะหายไปเองภายในไม่กี่เดือน แต่ปานที่เกิดขึ้นบนหน้าผากนั้นอาจจะใช้เวลา 4 ปีจึงจะหายไป ส่วนปานที่อยู่บนท้ายทอยจะไม่หายไป อาจจะรักษาด้วยเลเซอร์ ที่มีความจำเพาะ V-beam (Pulsed-dye laser)
2. ปานสตรอว์เบอร์รี่ (Strawberry Hemangioma) คือจุดสีแดงนูน เล็ก นุ่ม และบีบได้ ส่วนใหญ่จะขึ้นบนใบหน้า หนังศีรษะ หน้าอก หรือหลัง ทารกแรกเกิดอาจมีปานแดงชนิดนี้ได้ แต่ส่วนมากมักปรากฏขึ้นเมื่อเด็กอายุได้ 1-2 เดือน นอกจากนี้ ปานสตรอว์เบอร์รี่มักฝังลึกอยู่ในผิวหนัง ทำให้เห็นเป็นสีน้ำเงินหรือม่วง ขนาดของปานขยายเร็วในช่วง 6 เดือนแรก ก่อนที่จะค่อย ๆ หดเล็กลงและหายไปเมื่ออายุประมาณ 7 ปี
อันตรายของปานแดงชนิดเนื้องอกหลอดเลือด
-ปานแดงชนิดนี้ ถ้ามีมากกว่า 5 ตำแหน่ง ต้องรับการตรวจเพิ่มเติม เพราะมีความเสี่ยงที่จะมีปานเนื้องอกหลอดเลือดเกิดขึ้นที่อวัยวะอื่นภายในร่างกาย นอกเหนือจากที่ผิวหนังด้วย
– หรือถ้ามีปานชนิดนี้ขึ้นบริเวณใบหน้าขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร อาจพบร่วมกับกลุ่มอาการทางระบบประสาทที่เรียกว่า PHACE syndrome ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้จะมีความผิดปกติของ ตา หัวใจ และหลอดเลือดอื่นๆในร่างกาย
แนวทางการรักษา ปกติมักจะหายได้เอง ภายใน 1ปี ถ้าไม่หาย ควรทำการรักษาดังนี้
- รักษาด้วยยากิน เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาโพรพาโนลอล
- รักษาด้วยยาทา เช่น ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์
- รักษาด้วยเลเซอร์ที่มีความจำเพาะ V-beam (Pulsed-dye laser)
- รักษาด้วยการผ่าตัด
3. ปานแดงเส้นเลือดฝอย (Port-wine Stain) ปานแดงชนิดนี้เกิดจากเส้นเลือดใต้ผิวหนังเรียงตัวผิดปกติ มักจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงราบ บริเวณใบหน้า โดยพบบ่อยในซีกใบหน้าด้านขวามากกว่า ด้านซ้าย มักกระจายตามเส้นประสาทสมองเส้นที่ 5 (Trigerminal nerve branch) ในระยะแรกจะจางลงเมื่อกด แต่เมื่ออายุมากขึ้น ปานแดงจะสีเข้มขึ้นจนเกือบเป็นสีม่วง และลักษณะผิวที่เคยราบเรียบ อาจมีลักษณะเป็นตะปุ่มตะป่ำได้ ปานชนิดนี้จะนูนหนาขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น สามารถขึ้นได้ทุกตำแหน่งของร่างกาย
อันตรายของปานแดงชนิดพอร์ตไวน์สเตน
-ถ้าพบปานแดงชนิดพอร์ตไวน์สเตนตามริมฝีปาก รอบรูจมูก อาจบดบังทางดินหายใจได้ อาจพบปานชนิดนี้ร่วมกับความผิดปกติอื่นๆ เช่น
ความผิดปกติของกระดูก ถ้ามีปานแดงชนิดนี้ขึ้นที่บริเวณแขน ขา อาจพบความผิดปกติของกระดูกร่วมด้วยในข้างเดียวกัน ผู้ป่วยมักจะมีแขนขาโต เท้าโตผิดรูป มีปัญหาด้านการเดิน บางรายอาจพบปานชนิดอื่นๆ เช่น ปานดำ ปานสีน้ำตาล ปนมาด้วย
อาการทางระบบประสาท ผู้ป่วยที่มีปานแดงชนิดนี้ขึ้นที่บริเวณซีกนึงของใบหน้า อาจพบอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น ลมชัก สติปัญญาต่ำ
อาการทางสายตา ในผู้ป่วยที่มีผื่นบริเวณรอบตา เปลือกตา นอกจากปานนี้จะนูนหนาบดบังการมองเห็นแล้ว ยังสามารถมีอาการร่วมที่เป็นปัญหาจากกระบอกตา จอประสาทตา ทำให้มีต้อหิน หรือรุนแรงถึงขั้นมองไม่เห็นได้
แนวทางการรักษา เนื่องจากโรคนี้ไม่สามารถยุบตัวเองได้ ปล่อยไว้นานมีแต่จะขยายขนาด สีเข้มชัด และนูนหนามากขึ้น เด็กที่มีปัญหาปานแดง มักจะมีปัญหาทางจิตใจทีผุ้ปกครองไม่ควรละเลย เนื่องจากทำให้ขาดความมั่นใจในตนเอง มีผลต่อบุคลิกภาพ และการเข้าสังคม นอกจากนี้ อาจพบความผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น อาการชัก ปัญญาอ่อน และยังถือว่าเป็นอาการแสดงหนึ่งของกลุ่มโรคหลายอย่าง จึงควร แนะนำให้เข้ารับการรักษาตั้งแต่ก่อนวัยเรียน ด้วยเลเซอร์ V-beam (Pulsed-dye laser)