Posted on

โรคเรื้อน(Leprosy) สาเหตุ อาการ การป้องกันและรักษา

โรคเรื้อน(Leprosy) คืออะไร

คือ โรคติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ Mycobacterium leprae( M.leprae) ที่ทำให้เกิดอาการทางผิวหนัง เยื่อบุจมูก และเส้นประสาทส่วนปลาย
พบบ่อยแค่ไหน จากรายงานของกองโรคเรื้อน เมื่อปี 2562 พบผู้ป่วย เพียง 269 ราย อัตราการชุกของโรคประมาณ 0.04 รายต่อประชากร 10,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ลดลงมาก เมื่อเทียบกับ 40-50 ปีก่อน
อาการเป็นอย่างไร
1.มีลักษณะผื่นระยะต่างๆ ที่เหมือนหรือคล้าย รอยโรคระยะต่างๆ
2..มีอาการชาที่บริเวณรอยโรค ตั้งแต่สูญเสียความรู้สึกสัมผัสเบาๆ จนถึงเสียความรู้สึกร้อนเย็น หรือความรู้สึกเจ็บ
3. มีเส้นประสาทที่โตกว่าปกติ
4. ขูดหรือกรีดบริเวณรอยโรค แล้วนำไปย้อมน้ำยา acid fast strain แล้วส่งด้วยกล้องจุลทรรศน์ แล้วพบเชื้อ M.laprae ติดสีแดง
แพทย์จะพิจารณาจากอาการแสดงข้างบน เพื่อการวินิจฉัย จะต้องมีอาการแสดงอย่างน้อย 2 ข้อใน 3 ข้อแรกข้างบน และ/หรือ ตรวจพบเชื้อโรคนี้จากกล้องจุลทรรศน์

ติดต่อทางไหน รักษาอย่างไร

การติดต่อ เดิมเชื่อว่าเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยโรคเรื้อน แต่ในปัจจุบัน และหลักฐานหลายอย่าง ทำให้เชื่อว่า การติดเชื้อ ได้โดยการหายใจ ซึ่งพบเชื้อโรคเรื้อนในอากาศ หรือชุมชนที่มีผู้ป่วยอาศัยอยู่ และมีระยะฟักตัว ตั้งแต่ 3-10 ปี ขึ้นกับชนิดของเชื้อโรคเรื้อน
ทำไมต้องกักตัว สิ่งที่ทำให้โรคเรื้อนเป็นที่รังเกียจของสังคม คือ ความพิการที่ตรวจพบ ซึ่งเกิดจากเชื้อโรคได้ทำลายเส้นประสาท ทำให้เสียหน้าที่ในการควบคุมกล้ามเนื้อ ทำให้อ่อนกำลัง หรือ ลีบ หรือหงิกงอ และระยะที่มีการเห่อ หรือโรครุนแรงขึ้น เช่น มีการกระจายของผื่นอย่างรวดเร็ว ผิวหนังเป็นมันและชุ่ม
แนวทางการรักษา ตั้งแต่ปี 2525 จนถึงปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ใช้การรักษาด้วยยาผสมหลายตัวในระยะเวลาสั้น เพื่อป้องกันภาวะพิการ ทำลายแหล่งและตัดวงจรการระบาดของโรค เรียกว่า MDT ( multi-drug therpy) ซึ่งจะใช้ตัวยาหลายตัวร่วมกัน เช่น Dapsone,Rifampicin,Clofazimine,Ethionamide ,Fluoroquinolone,Macrolides antibiotics ,Minocycline และอาจใช้ยากลุ่มเสตียรอยด์บ้าง ทั้งในรูปของการทา และรับประทาน กรณีที่โรคเห่อมาก หรือเส้นประสาทอักเสบ มีตุ่มอักเสบรุนแรง
ระยะเวลาในการรักษา ได้มีการกำหนดแน่นอน และเมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาครบถ้วนตามระยะเวลาที่กำหนด ให้หยุดยาได้เลย และได้แบ่งระยะเวลาในการรักษา ตามความรุนแรงดังนี้
1.ประเภทผู้ป่วยเชื้อน้อย ใช้เวลาในการรักษา 6 เดือน โดยรับยาประจำเดือนครบ 6 ครั้ง ในระยะเวลา 9 เดือน
2.ประเภทผู้ป่วยเชื้อมาก ใช้เวลาในการรักษา 24 เดือน โดยรับยาประจำเดือนครบ 24 ครั้ง ในระยะเวลา 36 เดือน
ผู้ป่วยโรคเรื้อน ควรต้องเข้าใจในภาวะและระยะของโรค ตลอดจนผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้ ทั้งจากการดำเนินของโรคเอง ผลข้างเคียงของยาที่ใช้ การรักษาแนะนำให้รักษาในรพ.ที่รักษาโรคนี้โดยเฉพาะ สถาบันโรคผิวหนัง หรือรพ.ของรัฐที่มีศักยภาพ เพราะจำนวนผู้ป่วยทั่วประเทศไทยไม่มากนัก ตามคลินิกผิวหนังและรพ.บางแห่ง อาจไม่มียาไว้ในคลังยา

Posted on

ปานแดง (Vascular Birthmarks) : ความผิดปกติแต่กำเนิด ที่ไม่ควรมองข้าม

ปานแดง คืออะไร

ปานแดง  (Vascular Birthmarks) คือสีผิวที่เปลี่ยนไป ซึ่งเกิดจากลักษณะของหลอดเลือดที่ผิดปกติ มักปรากฏบนผิวหนังของเด็กแรกคลอด หรือปรากฏขึ้นหลังจากที่เด็กคลอดออกมาได้ไม่นาน มักมีสีชมพู ม่วง หรือแดง สามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิดหลักๆ ได้แก่
1. แซลมอน แพตช์ (Salmon Patch) หรือปานเส้นเลือดแดง (Stork Bites) คือปานที่มีสีออกแดงหรือชมพู มีลักษณะเรียบ พบได้ทั่วไป และพบได้บ่อยถึง 1 ใน 3 ของเด็กแรกเกิด มักปรากฏบริเวณท้ายทอย เปลือกตา หรือหน้าผากบริเวณหว่างคิ้ว
การรักษา ปานจะหายไปเองภายในไม่กี่เดือน แต่ปานที่เกิดขึ้นบนหน้าผากนั้นอาจจะใช้เวลา 4 ปีจึงจะหายไป ส่วนปานที่อยู่บนท้ายทอยจะไม่หายไป อาจจะรักษาด้วยเลเซอร์ ที่มีความจำเพาะ V-beam (Pulsed-dye laser)
2. ปานสตรอว์เบอร์รี่ (Strawberry Hemangioma) คือจุดสีแดงนูน เล็ก นุ่ม และบีบได้ ส่วนใหญ่จะขึ้นบนใบหน้า หนังศีรษะ หน้าอก หรือหลัง ทารกแรกเกิดอาจมีปานแดงชนิดนี้ได้ แต่ส่วนมากมักปรากฏขึ้นเมื่อเด็กอายุได้ 1-2 เดือน นอกจากนี้ ปานสตรอว์เบอร์รี่มักฝังลึกอยู่ในผิวหนัง ทำให้เห็นเป็นสีน้ำเงินหรือม่วง ขนาดของปานขยายเร็วในช่วง 6 เดือนแรก ก่อนที่จะค่อย ๆ หดเล็กลงและหายไปเมื่ออายุประมาณ 7 ปี
อันตรายของปานแดงชนิดเนื้องอกหลอดเลือด
-ปานแดงชนิดนี้ ถ้ามีมากกว่า 5 ตำแหน่ง ต้องรับการตรวจเพิ่มเติม เพราะมีความเสี่ยงที่จะมีปานเนื้องอกหลอดเลือดเกิดขึ้นที่อวัยวะอื่นภายในร่างกาย นอกเหนือจากที่ผิวหนังด้วย
– หรือถ้ามีปานชนิดนี้ขึ้นบริเวณใบหน้าขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร อาจพบร่วมกับกลุ่มอาการทางระบบประสาทที่เรียกว่า PHACE syndrome ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้จะมีความผิดปกติของ ตา หัวใจ และหลอดเลือดอื่นๆในร่างกาย
แนวทางการรักษา ปกติมักจะหายได้เอง ภายใน 1ปี ถ้าไม่หาย ควรทำการรักษาดังนี้

  • รักษาด้วยยากิน เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาโพรพาโนลอล
  • รักษาด้วยยาทา เช่น ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์
  • รักษาด้วยเลเซอร์ที่มีความจำเพาะ V-beam (Pulsed-dye laser)
  • รักษาด้วยการผ่าตัด

3. ปานแดงเส้นเลือดฝอย (Port-wine Stain) ปานแดงชนิดนี้เกิดจากเส้นเลือดใต้ผิวหนังเรียงตัวผิดปกติ มักจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงราบ บริเวณใบหน้า โดยพบบ่อยในซีกใบหน้าด้านขวามากกว่า ด้านซ้าย มักกระจายตามเส้นประสาทสมองเส้นที่ 5 (Trigerminal nerve branch) ในระยะแรกจะจางลงเมื่อกด แต่เมื่ออายุมากขึ้น ปานแดงจะสีเข้มขึ้นจนเกือบเป็นสีม่วง และลักษณะผิวที่เคยราบเรียบ อาจมีลักษณะเป็นตะปุ่มตะป่ำได้ ปานชนิดนี้จะนูนหนาขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น สามารถขึ้นได้ทุกตำแหน่งของร่างกาย
อันตรายของปานแดงชนิดพอร์ตไวน์สเตน
-ถ้าพบปานแดงชนิดพอร์ตไวน์สเตนตามริมฝีปาก รอบรูจมูก อาจบดบังทางดินหายใจได้ อาจพบปานชนิดนี้ร่วมกับความผิดปกติอื่นๆ เช่น
ความผิดปกติของกระดูก ถ้ามีปานแดงชนิดนี้ขึ้นที่บริเวณแขน ขา อาจพบความผิดปกติของกระดูกร่วมด้วยในข้างเดียวกัน ผู้ป่วยมักจะมีแขนขาโต เท้าโตผิดรูป มีปัญหาด้านการเดิน บางรายอาจพบปานชนิดอื่นๆ เช่น ปานดำ ปานสีน้ำตาล ปนมาด้วย
อาการทางระบบประสาท ผู้ป่วยที่มีปานแดงชนิดนี้ขึ้นที่บริเวณซีกนึงของใบหน้า อาจพบอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น ลมชัก สติปัญญาต่ำ
อาการทางสายตา ในผู้ป่วยที่มีผื่นบริเวณรอบตา เปลือกตา นอกจากปานนี้จะนูนหนาบดบังการมองเห็นแล้ว ยังสามารถมีอาการร่วมที่เป็นปัญหาจากกระบอกตา จอประสาทตา ทำให้มีต้อหิน หรือรุนแรงถึงขั้นมองไม่เห็นได้
แนวทางการรักษา เนื่องจากโรคนี้ไม่สามารถยุบตัวเองได้ ปล่อยไว้นานมีแต่จะขยายขนาด สีเข้มชัด และนูนหนามากขึ้น เด็กที่มีปัญหาปานแดง มักจะมีปัญหาทางจิตใจทีผุ้ปกครองไม่ควรละเลย เนื่องจากทำให้ขาดความมั่นใจในตนเอง มีผลต่อบุคลิกภาพ และการเข้าสังคม นอกจากนี้ อาจพบความผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น อาการชัก ปัญญาอ่อน และยังถือว่าเป็นอาการแสดงหนึ่งของกลุ่มโรคหลายอย่าง จึงควร แนะนำให้เข้ารับการรักษาตั้งแต่ก่อนวัยเรียน ด้วยเลเซอร์ V-beam (Pulsed-dye laser)

Posted on

โรคกลาก ( Ringworm ) ไม่อยากเป็น ต้องรู้สาเหตุและการรักษา

โรคกลาก คือ อะไร

โรคกลาก (Dermatophytosis or Ringworm ) เป็นภาวะการติดเชื้อราในกลุ่ม Dermatophyte ได้แก่เชื้อราใน genus Trichophyton,Epidermphyton, และ Microsporum เชื้อรานี้จะเจริญเติบโตในผิวหนังชั้นตื้น ได้แก่ด้านนอกของผิวหนัง ผม ขน เล็บ ซึ่งมีเคอราตินเป็นแหล่งอาหารของเชื้อรา
มักจะพบได้ในเด็ก หรือคนที่มีสุขอนามัยไม่ดี หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร้อง โดยมีปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีอาการมากน้อย ขึ้นอยู่กับ ความชื้นในอากาศ ความสกปรก ความรุนแรงของเชื้อรา ติดต่อโดยทางการสัมผัสจากดิน สัตว์เลี้ยง หรือคนที่มีการติดเชื้อ
อาการทางคลินิก: แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. ชนิดเฉียบพลัน: มักพบในกรณีที่ร่างกายมีการตอบสนองต่อการติดเชื้อ และสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี ทำให้มีลักษณะผื่น เป็นลักษณะอักเสบที่ผิวหนัง จึงมีลักษณะบวม มีรอยแดงนูนทันที ซึ่งมักจะมีโอกาสหายขาดได้สูง
2. ชนิดเรื้อรัง: มักพบผื่นลักษณะแบนราบ(macule) มีอาการคัน ต่อมาจะค่อยๆ ลามขยายออกเป็นวงที่มีขอบเขตชัดเจน โดยที่ตรงกลางจะหาย (central clearing) บริเวณขอบที่ลามออกมาอาจมีตุ่มแดงหรือตุ่มใสร่วมกับขุย(active border) มีรูปร่างเป็นวงกลม หรือวงแหวน หรือหลายวง รวมกัน ( ดังภาพประกอบที่2)

ชนิดของกลาก

เนื่องจากโรคกลากที่ตำแหน่งต่างๆ ของร่างกาย จะมีลักษณะผื่นที่ไม่เหมือนกัน และมีลักษะจำเพาะแต่ละที่ ทำให้เรียกชนิดต่างๆ กัน อาทิเช่น
1. กลากที่หนังศีรษะ (Tinea capitis) มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ติดต่อโดยใช้สิ่งของร่วมกัน มักระบาดในโรงเรียน วัด สถานรับเลี้ยงเด็ก
2. กลากบริเวณใบหน้า (Tinea faciei)
3. กลากที่ขาหนีบ( Tinea cruris) หรือสังคัง มักพบบริเวณขาหนีบ ต้นขา หรือสะโพก มีอาการคันมาก
4. กลากที่มือ (Tinea manumm) มักพบที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ง่ามนิ้วมือ
5. กลากที่เท้า (Tinea pedis) มักพบตามง่ามนิ้วเท้า ที่เรียกว่า ฮ่องกงฟุต
6. กลากที่เล็บ(Tinea unguium) ซึ่งมักพบที่เล็บเท้ามากกว่าเล็บมือ และมีข้อสังเกตว่า ถ้าพบเชื้อราที่เล็บมือ และเล็บเท้าพร้อมๆ กันหลายๆ ที่ ควรตรวจภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือไม่ หรือตรวจหาเชื้อ HIV
7. กลากหนุมาน (Tinea incognito) มักพบกรณีที่ผู้ป่วยไปรักษาเองตามร้านขายยา และได้ทาเสตียรอยด์ครีม ทำให้ผื่นมีลักษณะแตกต่างจากเดิม โดยมัจะพบเป็นลักษณะผื่นคล้ายผื่นแพ้ มีตุ่มน้ำ ตุ่มนูนหรือมีขุยแดงๆ ทั่วๆ ไป

การวินิจฉัยและการรักษา

การวินิจฉัย: แพทย์จะดูลักษณะและตำแหน่งของผื่น ถ้าไม่แน่ใจมักจะขูดเอาเชื้อที่ขอบของรอยโรคมาตรวจด้วยน้ำยา KOH แล้วนำมาส่องดูด้วย กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งจะพบสายใยใสที่มีผนังกั้นและปล้องของเชื้อรา-hyaline septate hyphae and andthrospore
แนวทางการรักษาและป้องกัน:
1. ครีมทาเชื้อรา ถ้ารอยโรคไม่มาก การทายารักษากลุ่ม Tolnaftae หรือ Imidazole( clotrimazole cream,canesten cream) ก็ทำให้หายได้
2. ยารับประทานฆ่าเชื้อรา แต่ถ้าเป็นมากหรือโรคกลากบางชนิด เช่น เชื้อราที่เล็บ มักจะให้ยารับประทานร่วมด้วย เช่น
– Itraconazole(Spiral) 100 มก.ต่อวัน นาน 30 วัน
– Terbinafine(Lamisil) 250 มก.ต่อวัน นาน 14 วัน
– Griseofulvin(Fulvin) 500-1,000 มก.ต่อวันนาน 4-6 สัปดาห์

Posted on

ไข้อีสุกอีใส( Chicken pox) : ใครไม่อยากเป็น มีวัคซีนป้องกัน

โรคไข้อีสุกอีใส คืออะไร

โรคไข้อีสุกอีใส เป็นโรคตุ่มน้ำใส พบได้บ่อยในเด็กอายุระหว่าง 2-12 ปี แต่ก็พบได้ทุกช่วงอายุ ความรุนแรงของโรค ขึ้นอยู่กับภาวะภูมิต้านทานของร่างกาย จำนวนเชื้อที่ได้รับ เกิดจากเชื้อไวรัส Varicella Zoster
อาการ เริ่มต้น ด้วยการมีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย แล้วเกิดตุ่มน้ำขึ้นบริเวณร่างกาย โดยมักเกิดที่ใบหน้า ตามลำตัว ทรวงอก และแพร่กระจายไปตามร่างกาย
โดยภายใน 2-3 วันหลังมีไข้ต่ำๆ ตุ่มน้ำใสระยะแรก จะเริ่มเกิดขึ้น ผนังจะบาง ตุ่มจะใสและมีรอยแดงตรงกลาง หลังจากนั้นตุ่มจะโตขึ้น เป็นตุ่มสีขาวขุ่น หรือเป็นหนอง มักมีรอยบุ๋มตรงกลาง และหลังจากนั้นจะเริ่มแห้งเป็นสะเก็ด และหายได้เอง ภายใน 7-10 วัน
– หลังจากเริ่มมีตุ่มน้ำ มีระยะติดต่อตั้งแต่วันแรก จนถึงวันที่สะเก็ดหลุด เชื้อก็ยังอยู่ในร่างกายได้อีก 2 อาทิตย์และยังสามารถติดต่อได้โดยการสัมผัส ดังนั้นคนที่เป็นไข้อีสุกอีใส ควรกักตัว ไม่พบปะผู้คนอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อลดการติดต่อไปยังบุคคลอื่น

วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส

ปัจจุบันนิยมฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไข้อีสุกอีใส เพราะถ้าเป็นแล้ว ต้องหยุดเรียนหรือหยุดทำงานเกือบเดือน และพบว่าการเป็นโรคไข้อีสุกอีใสในวัยผู้ใหญ่ จะมีความรุนแรงมากกว่าเป็นตอนวัยเด็ก คือ ตุ่มน้ำพองใสจะมากกว่า รุนแรงกว่า และเกิดร่องรอยแผลเป็นได้มากกว่า
ในประเทศไทย ได้มีการนำวัคซีนนี้เข้ามาฉีดเพื่อป้องกัน ในปี 2538 แต่ไม่ได้ถือเป็นวัคซีนที่ต้องฉีดทุกคน ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน และสามารถให้แพทย์ตามรพ.และคลินิกจัดฉีดให้ได้

ข้อควรรู้ในการฉีดวัคซีน 

  1. เด็กอายุตั้งแต่ 12-18 เดือน จนถึงอายุ 13 ปี แนะนำให้ฉีด 1 เข็ม ขนาด 0.5 ซีซี โดยอาจให้ร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม ( MMR) หรือสามารถจะฉีดวัคซีนในช่วงใดก็ได้ ถ้ายังไม่เคยเป็นไข้อีสุกอีใสมาก่อน
  2. เด็กที่มีอายุมากกว่า 13 ปี หรือผู้ใหญ่ที่ไม่เคยเป็นโรคนี้ แนะนำให้ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 4-8 สัปดาห์
  3. หลังฉีดวัคซีน สามารถป้องกันโรคนี้ ได้ถึง ร้อยละ 94-100 ในเด็กปกติ และในผู้ใหญ่ จะป้องกันโรคนี้ได้ถึงร้อยละ 80
  4. ค่าใช้จ่ายในการฉีดต่อครั้ง ประมาณ 1,250 บาทต่อเข็ม ( ราคาทุน ของวัคซีนประมาณ 800 กว่าบาท )
  5. ไม่แนะนำ หรือห้ามฉีดในคนที่มีประวัติแพ้ยา neomycin หญิงมีครรภ์ และให้นมบุตร ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพราะอาจทำให้เกิดโรคนี้ได้ แทนที่จะป้องกันโรค