โรคด่างขาว(Vitiligo) : ความผิดปกติของเซลล์สร้างเม็ดสี มีการรักษาอย่างไร ให้ดีขึ้น
โรคด่างขาว เป็นภาวะของโรคที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ที่ทำให้ร่างกายสูญเสียเซลล์สร้างเม็ดสีผิว( Melanocyte) ทำให้เกิดลักษณะบริเวณดังกล่าว เกิดเป็นรอยด่างสีขาว มีขอบเขตชัด ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับรอยด่างในเกลื้อนแดด(P.alba) ในบทความที่ผ่านมา จะมีขอบเขตไม่ชัด และสีไม่ซีดขาวมากเหมือนภาวะโรคด่างขาว
มักพบในวัยหนุ่มสาว ซึ่งเชื่อว่ามีปัจจัยทางพันธุกรรม หรือ ภาวะภูมิคุ้มกัน เกี่ยวข้องกับสาเหตุของโรคด้วย
ลักษณะ สีผิวตรงรอยด่างขาว จะพบเป็นผื่นราบ( macule) หรือ เป็นปื้นๆ( patch) สีขาวเหมือนน้ำนม มีขอบเขตชัดเจน มีรูปร่างและจำนวนรอยด่างแตกต่างกัน และขนาดไม่แน่นอน ภายในรอยด่าง อาจมีสีน้ำตาลของสีผิวหลงเหลืออยู่
ตำแหน่งที่พบ พบได้บ่อยที่ ใบหน้า มือ เท้า และผิวหนังเหนือข้อ แต่อาจพบที่รอบทวารหนัก หรือ อวัยวะเพศได้ มักมีการกระจายเท่ากัน ทั้งซ้าย ขวาของร่างกาย และเมื่อเกิดมักจะไม่หายขาด แต่โดยทั่วไป สุขภาพร่างกายจะยังแข็งแรง ประกอบอาชีพได้ตามปกติ
โรคด่างขาวแยกจากโรคกลากเกลื้อนได้อย่างไร โรคด่างขาว แยกได้ง่ายจาก โรคเกลื้อนจากเชื้อรา( Tinea vesicolor) และเกลื้อนแดด( P.alba) เพราะลักษณะที่เห็นขอบเขตชัด ถ้าต้องการยืนยัน การตัดชิ้นเนื้อไปส่องกล้องจุลทรรศน์ โรคด่างขาวจะไม่พบเซลล์สร้างเม็ดสี(melanocyte) และเม็ดสีเมลานิน ในขณะที่โรคกลาก เกลื้อน ยังพบเซลล์เม็ดสีปกติ
การรักษาโรคด่างขาว
โรคด่างขาวไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาจะเป็นการประคับประคองอาการหรือทำให้รอยด่างขาวที่ปรากฏดูดีขึ้น คนที่เป็นโรคนี้ ก็ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพด้านอื่น หรือระบบอื่น และไม่ติดต่อไปยังคนรอบข้าง หรือคู่สมรส ส่วนวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการและความต้องการของผู้ป่วย
แนวทางการรักษา
ที่แพทย์ผิวหนังใช้พิจารณา มีหลักการดังนี้
1. ป้องกันแสงแดด โดยให้พยายามหลบเลี่ยงแสงแดด หรือ ทาครีมกันแดดบริเวณรอยด่างขาว เพื่อป้องกันผิวหนังไหม้ และรอยโรคเป็นมากขึ้น ในอตีดได้มีการให้ยาทา Meladinnine แล้วให้ผู้ป่วยไปตากแดด ไม่เป็นที่นิยมแล้ว เพราะอาจเกิดการอักเสบไหม้ แสบคันได้
2. กระตุ้นสีผิวให้กลับคืน ทำได้กรณีที่บริเวณรอยด่างขาว ยังพอมีเซลล์สร้างเม็ดสีหลงเหลือบ้าง โดยการฉายแสงแบบ PUVA (psovalen+UVA) ได้ผลประมาณ 50 %
3. การปลูกถ่ายผิวหนัง เพื่อให้มีเซลล์สร้างเม็ดสีเมลานินใหม่มาทำหน้าที่ทดแทน แต่ยังเป็นเทคนิดที่ยุ่งยากซับซ้อนอยู่
4. การรักษาด้วยเลเซอร์ เป็นการรักษาที่จะช่วยให้เกิดการสร้างเม็ดสีผิวขึ้นมาใหม่โดยการใช้เอ็กซ์ไซเมอร์ เลเซอร์ (Excimer Laser) แต่เป็นวิธีที่ใช้กับพื้นที่ขนาดเล็กเท่านั้น และมักใช้รักษาร่วมกับการใช้ยาทาผิว อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น แดงและแผลพุพอง
5. วิธีฟอกสีผิว (Depigmentation) เป็นวิธีที่ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีด่างขาวแพร่กระจายเป็นบริเวณกว้างและการรักษาอื่น ๆ ไม่ได้ผล โดยจะใช้ยาที่มีส่วนประกอบของโมโนเบนโซน (Monobenzone) ทาลงไปบนผิวหนังที่ยังมีสภาพปกติ ซึ่งจะช่วยทำให้สีผิวค่อย ๆ ขาวขึ้นจนใกล้เคียงกับผิวที่เกิดด่างขาว
5. การใช้เครื่องสำอาง ทาบดบังรอยโรค กรณีรายที่รักษาไม่ได้ผล